ชายแดนแม่สาย - เผยขบวนการเถื่อนฝ่ากฎสกัดโควิด รับส่งทั้งคน-สินค้าผ่านท่าข้ามและช่องทางธรรมชาติข้ามลำน้ำสาย/แม่น้ำรวก จากพม่าเข้าไทยแบบกองทัพมดตลอดแนว พบเรียกค่าผ่านทางสูงสุดไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อหัว
หลังมีการปิดพรมแดนไทย-พม่าตลอดแนวเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานร่วม 4 เดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 เป็นต้นมา ทำให้บรรดาแรงงานพม่าที่เข้ามาปักหลักทำงานในไทยต้องตกงานเดินทางกลับบ้านเกิด ชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็กที่เคยคึกคักเต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่านเงียบงันไปถนัดตา
กระทั่งสถานการณ์โควิดในไทยคลี่คลาย และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น แม้ยังไม่มีการเปิดพรมแดน แต่แรงงานต่างด้าวก็เริ่มลักลอบข้ามชายแดนเข้าไทยผ่านท่าข้าม/ช่องทางธรรมชาติตั้งแต่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย จดลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ที่เป็นเส้นเขตแดนกันต่อเนื่อง
ชาวพม่าคนหนึ่งในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก กล่าวว่า สถานการณ์ในท่าขี้เหล็กค่อนข้างฝืดเคืองเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคพอสมควร เพราะเดิมจะข้ามไปหาซื้อสินค้าในฝั่งไทยและนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคได้เกือบทุกชนิด แต่เมื่อมีการปิดจุดให้นำเข้าสินค้าได้เพียงจุดเดียวคือสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ทำให้แม้แต่สินค้าขึ้นราคา
เช่น เนื้อเคยซื้อในฝั่งไทยกิโลกรัมละประมาณ 150-170 บาท ท่าขี้เหล็กขายกิโลกรัมละประมาณ 270 บาทและมีการทำเป็นถุงๆ เพราะไม่มีเขียงหมูให้แบ่งขายตามปกติ ส่วนพืชผักก็มีราคาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ฯลฯ ภายในชุมชนก็มีแต่คนจีนที่เดินทางเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะตามโรงแรมที่มีกาสิโนอย่างน้อย 4-5 แห่ง เพราะคนเหล่านี้เข้าไปพักอาศัย เล่นการพนันและทำธุรกิจอยู่ภายในโดยไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ส่วนชาวพม่าเมื่อเดินทางกลับประเทศก็ไม่มีงานทำและแร้นแค้นจึงดิ้นรนกลับเข้ามาทำงานในฝั่งไทยที่เริ่มมีการผ่อนปรนเปิดกิจการต่างๆ มากขึ้น
ซึ่งลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก จาก อ.แม่สาย - อ.เชียงแสน ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ที่มีสภาพตื้นเขินและแคบ กลายเป็นจุดสำคัญของการลักลอบข้ามฝั่ง เนื่องจากเป็นชุมชนหนาแน่นที่มีเส้นทางคมนาคมทั้งในฝั่งพม่าและไทย
เฉพาะพรมแดนลำน้ำสายตั้งแต่ ต.เวียงพางคำ-ต.แม่สาย เขตเทศบาลตำบลแม่สาย มีบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ ตลาด ฯลฯ อยู่ทั้งสองฟากฝั่งนั้น บางจุดถูกลอบเปิดเป็นเหมือนท่าน้ำเข้าออกระหว่างกันได้ ซึ่งด้วยความที่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลและคับแคบทำให้การเข้าไปตั้งจุดตรวจและสกัดกั้นเป็นไปได้ยาก ส่งผลทำให้กลายเป็นจุดที่ผู้ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยมักยังลักลอบขนสิ่งของผิดกฎหมาย เช่น บุหรี่ สุรา ฯลฯ เข้ามาจำหน่ายในตลาดมืดเป็นประจำ
รวมท่าน้ำบริเวณหัวฝายหรือจุดที่มีฝายกั้นน้ำตอนต้นของลำน้ำสาย ท่าน้ำใกล้โรงแรมริมฝั่งแห่งหนึ่งใกล้ตลาดสายลมจอยซึ่งเป็นตลาดชายแดน ท่าพญานาค ท่าเจ้ดาว ท่าเกาะทราย ท่าป่ากล้วย ฯลฯ กับท่าน้ำที่อยู่ติดลำน้ำรวกไปจนถึง อ.เชียงแสน ว่ากันว่ามีกว่า 10-20 แห่ง
และจากการจับกุมคนต่างด้าวที่ลักลอบข้ามลำน้ำสายเข้าไทยหลายครั้งที่ผ่านมาพบว่าหลายคนลงทุนนั่งรถตู้จากตัวเมืองชั้นในของพม่ามายังชายแดนไทยและจ่ายค่าจ้างให้คนนำทางชาวพม่าในฝั่งท่าขี้เหล็ก เพื่อให้พานั่งรถไปส่งข้ามตามท่าน้ำต่างๆ
ทั้งนี้ ว่ากันว่า..หากเป็นการส่งสินค้าข้ามฝั่งจะคิดราคาเที่ยวละ 3,000-5,000 บาท แต่หากเป็นคนที่ลักลอบเข้ามานั้นเดิมคิดราคาหัวละประมาณ 10,000-12,000 บาท แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่เข้มงวดหนักจึงคิดราคาเพิ่มขึ้นเป็นหัวละกว่า 15,000 บาทแล้ว
แหล่งข่าวชายแดนแม่สายกล่าวว่า ในอดีตท่าน้ำในฝั่งท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นของเอกชนจะมีลักษณะเหมือนการได้สัมปทาน โดยนายทุนจะทำเป็นท่าขนส่งสินค้าและคนนอกระบบ ส่วนฝั่งไทยก็จะมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลจับจองท่าน้ำและอาคารต่างๆ รอรับ แต่เมื่อถึงยุคปิดพรมแดนเพราะไวรัสโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดหนัก หลายจุดเจ้าหน้าที่ทหารนำรั้วลวดหนามไปกั้น ติดกล้องวงจรปิด ใช้โดรนบินส่อง ลาดตระเวนและวางกำลังเอาไว้ตลอดแนว ทำให้กลุ่มทุนนอกระบบบางคนใช้วิธีการลักลอบเข้ามาแบบกองทัพมดแทบทุกวันตามจุดที่ตรวจจับได้ยาก
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ถนัดพล โกศัยเสวี ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พล.ต.ต.ยุทธชัย พัวประเสริฐ ผบก.ภ.จว.เชียงราย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการป้องกันการลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทยอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ไม่คาดฝันในพื้นที่ โดยมีการติดตั้งรั้วลวดหนาวไปแล้ว 22 จุด ติดตั้งไฟส่องสว่าง ใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนตรวจการณ์ วางกำลังคนตามจุดต่างๆ และตั้งจุดตรวจจุดสกัดร่วมทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ ตามเส้นทางสำคัญ
ซึ่งทำให้ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.-9 ก.ค.สามารถจับกุมผู้ลักลอบข้ามฝั่งมาได้ 34 ครั้ง ผู้ต้องหา 125 คน เป็นชาวสัญชาติพม่า 113 คน ชาว สปป.ลาว 10 คน ชาวจีน 2 คน และสั่งปลดผู้นำชุมชนในพื้นที่ชายแดนแม่สายคนหนึ่งออกจากตำแหน่งแล้ว หลังจากเกิดการลักลอบเข้ามาของชาวต่างด้าวกลุ่มใหญ่มาก่อนหน้านี้