สระบุรี - ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่รับข้อทราบมูล หลังชาวบ้าน 2 ตำบล ในจังหวัดสระบุรี ต้านโรงชำแหละไก่สยามเซ็นทาโกฟาร์ม กว่า 300 ไร่ หวั่นส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (15 ก.ค.) ที่ห้องประชุมหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์ราชการ จ.สระบุรี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะเดินทางมาร่ามประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีการคัดค้านการก่อสร้างและประกอบกิจการโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ของบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม จำกัด ที่ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินกว่า 300 ไร่
เพื่อจะเข้ามาก่อสร้างในพื้นที่ ต.ปากข้าวสาร และ ต.หนองยาว ในพื้นที่คาบเกี่ยวกันระหว่าง ม.1 ต.ปากข้าวสาร และ ม.9 และ ม.10 ต.หนองยาว ซึ่งชาวบ้านทั้ง 2 ตำบลได้รวมตัวคัดค้านผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเกรงเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลองหนองยาว ที่ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค
โดยมีนางอังคณา ชิตะติดติ รองผู้ว่าราชการ จ.สระบุรี นายรณ์ภัฏวีญ์ ม่วงน้อย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.วิลาสินี ศักดิ์เทวินทร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ กองตรวจมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ นายสัตวแพทย์ประกาศ ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี โยธาธิการและผังเมือง อุตสาหกรรม จ.สระบุรี ปศุสัตว์ จ.สระบุรี สาธารณสุข จ.สระบุรี อ.เมืองสระบุรี นายฉัตรชัย เทียมลม นายก อบต.หนองยาว อบต.ปากข้าวสาร แทนผู้ประกอบการ และตัวแทนชาวบ้านผู้ร้องเรียน ซึ่งที่ประชุมสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อคือ
1.ขอให้บริษัท (ผู้ประกอบการ) เร่งสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากมีการก่อสร้างโรงงานเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่
2.ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของปะชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะรับฟังความคิดเห็นประกอบการอนุญาต
3.ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อมาตรการตรวจสอบในด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะติดตามความคืบหน้า รวมถึงการแก้ไขปัญหาในภาพรวมต่อไป
จากนั้น นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต พร้อมคณะได้เดินทางไปยังจุดที่จะมีการก่อสร้างโรงงานในเขต ต.ปากข้าวสาร และ ต.หนองยาว (ท้ายคลองหนองยาว)โดยมีชาวบ้านรวมตัวกันถือป้ายคัดค้านราว 300 คน รอต้อนรับ
โดยนายสมศักดิ์ เผยว่า การเดินทางลงพื้นที่มาครั้งนี้เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ จากทั้งของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และฝ่ายผู้ประกอบการ รวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการอนุญาต เพื่อรวบรวมนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในระดับกระทรวง กรม ได้พิจารณาต่อไป ในชั้นนี้ยังคงไม่มีการดำเนินการก่อสร้างใดๆ เกิดขึ้น เพราะฝ่ายผู้ประกอบการมีเพียงหนังสือสอบถามมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ว่าในบริเวณดังกล่าวจะสามารถก่อสร้างโรงงานได้หรือไม่เท่านั้น ยังคงมีอีกหลายขั้นตอนทางกฎหมายที่จะต้องพิจารณา
ด้าน นายจรัล ธนวิบูลย์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยว่า ตนในฐานะตัวแทนชาวบ้านเคยเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ และผู้ประกอบการที่จะมาก่อสร้างโรงงานชำแหละไก่ และเคยได้ยินผู้แทน โรงงานพูดในที่ประชุม มีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้ยินกันชัดเจนว่า ทางโรงงานไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าจะไม่ปล่อยน้ำเสียลงคลองหนองยาว
“หากเป็นเช่นนั้นสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา พี่น้องประชาชนใน 2 ตำบลที่เคยมีความเป็นอยู่กับธรรมชาติ มีความสวยงาม ถ้ามีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ย่อมหลีกเลี่ยงต่อผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้ยาก ที่นี่เป็นชุมชน มีหมู่บ้าน มีวัด มีโรงเรียน มีศูนย์ฝึกโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1 มีหน่วยทหาร ตนไม่ได้ต่อต้านความเจริญจากภาคอุตสาหกรรม แต่อยากวิงวอนให้ผู้ประกอบการโปรดทบทวนไปก่อสร้างในพื้นที่ที่มีการอนุญาตจะเหมาะสมกว่า” นายจรัล กล่าว