xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.กีฬาฯ เตือนจุฬาฯ อย่าทุบสนามศุภชลาศัย หวั่นกระทบจิตใจคนวงการกีฬา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร
รัฐสภา - “บุญลือ” เรียกประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร หารือข้อพิพาท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอคืนพื้นที่จากกรมพลศึกษา ย้ำไม่เห็นด้วยกับการทุบทำลายสนามศุภชลาศัย เหตุเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางการกีฬา


วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) 411 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 มีคณะกรรมาธิการกีฬา ที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

การพิจารณาครั้งนี้ประเด็นสำคัญเป็นปัญหาข้อพิพาทที่ตั้งของกรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ขอคืนพื้นที่จากกรมพลศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562-2563 เป็นต้นมา ปรากฏมีสนามเทพหัสดิน สนามวอร์ม 200 เมตร อาคารนิมิตรบุตร สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ และในปี 2565 ทางจุฬาฯ จะขอคืนพื้นที่ทั้งหมด

ทำให้เกิดปัญหาการร้องเรียน ที่ผ่านมาปรากฏมี ดร.อมรทัตต์ อัคคะพู อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กรมพลศึกษา (เป็นผู้ร้อง) และ ดร.กิตติพงษ์ โพธิมู อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา เป็นผู้ถวายฎีกาคัดค้าน ซึ่งวันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.บัญฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบให้นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผอ.สำนักงานจัดการทรัพย์สินพร้อมคณะมาชี้แจง

ปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรมพลศึกษา กับจุฬาลงกรณ์ฯ บรรยากาศมีการพูดคุยและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งกรมพลศึกษาระบุว่า ปัญหานี้เกิดจากสัญญาเช่าปีต่อปี ซึ่งสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ มีให้มพลศึกษา นับจากอดีตถึงปัจจุบัน จึงทำให้กรมพลศึกษาไม่สามารถที่จะพัฒนาปรับปรุงที่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินได้ ขณะที่ผู้แทนจากฝ่ายจุฬาลงกรณ์ฯ ยืนยันว่าทุกอย่างเกิดขึ้นตามแผนการจัดการทรัพย์สินของทางจุฬาฯ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีประโยชน์สูงสุด

นายวรพงศ์ สุขธีรอนันตชัย ผอ.สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่กว่า 1 พันไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ราชการ 70% ส่วนอีก 30% เป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ คำว่าขอคืนพื้นที่นั้น เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ที่เช่าโดยกรมพลศึกษายังใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จุฬาฯ จึงจัดการให้คืนพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 62 ซึ่งที่ผ่านมา จุฬาฯ ได้ปรับปรุงเปลี่ยนหญ้าใหม่ เพื่อให้เป็นที่ของสังคม ระยะเวลาที่คืนมาแต่ละจุดจึงเป็นการพัฒนาเพื่อประชาชน

“คำถามว่า ถ้าได้คืนมาจะเอาไปทำอะไร ยืนยันว่าการพัฒนาทรัพย์สิน จุฬาฯ เอาสังคมเป็นตัวตั้ง หากมีการคืนพื้นที่ครบ ทั้งยังรวมถึงสนามศุภชลาศัย พื้นที่นี้ก็จะเป็นแหล่งการออกกำลังกายตั้งอยู่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยที่สุด ซึ่งจุฬาฯ กำลังให้มีการออกแบบทุกจุด สนามศุภชลาศัยต้องเป็นสนามกีฬาแห่งชาติจริงๆ ให้เกิดแลนด์มาร์ก มีคนมาเที่ยวเพื่อเทียบเท่ากับต่างชาติมาตรฐาน FIFA การคืนพื้นที่จึงเป็นการรักษาคอนเซ็ปต์นี้ เจตนาการคืนพื้นที่เรามีเจตนาดี เพราะเราคิดพัฒนาให้มีคุณค่าและดีที่สุดต่อประชาชน” นายวรพงศ์ กล่าว




ด้าน ดร.ประพัน ไพรอังกูร รองอธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า การออกมาคัดค้านไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมหรือยอมรับ เพราะที่ดินที่เช่านั้นเป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากการเคลื่อนย้ายกรมพลศึกษาไปสนามกีฬาคลอง 6 ต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาพื้นที่อีกจำนวนมาก เนื่องจากสนามกีฬาคลอง 6 ถูกสร้างมาเพื่อเป็นศูนย์ฝึกกีฬามิใช่สถานที่ปฏิบัติราชการ จึงเห็นว่าหากมีการขยายเวลาออกไปจนกรมพลศึกษามีความพร้อมในสถานที่ใหม่ ก็พร้อมจะดำเนินการตามแผนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ ส.ส.ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขอให้ได้มีการบันทึกความเห็นข้อมูลข้อเท็จจริงของทั้งฝ่ายผู้ร้อง ฝ่ายกรมพลศึกษา และฝ่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไว้ในบันทึกการประชุม โดยข้อสรุปของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรขอให้กรมพลศึกษาและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปประชุมเจรจาถึงแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการคืนพื้นที่สนามศุภชลาศัยแล้วจะนำไปทุบหรือทำลาย เนื่องจากเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ทางการกีฬาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในวงการกีฬา


“ทราบว่าเรื่องนี้ได้มีการถวายฎีกาไปที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ซึ่งกำลังอยู่ในพระราชวินิจฉัย ในส่วนของคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร จะก้าวล่วงในเรื่องนี้ไม่ได้ จึงขอให้เป็นเรื่องความตกลงในการแก้ไขปัญหาเพื่อถวายรายงานต่อองคมนตรีตามขั้นตอนต่อไป” ส.ส.ดร.บุญลือ กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น