อุดรธานี - ตำรวจภูธรอุดรฯ จับ 2 ผู้ต้องหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ความเสียหายมากกว่า 75 ล้านบาท เผยใช้เล่ห์ชักจูงให้ร่วมลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษสองฝั่งโขง ลงเงินร่วมลงทุน 1,000 บาท ได้ผลตอบแทนถึง 5 ล้านบาท เผยผู้ต้องหาทั้งคู่เป็นเลขาฯ และกรรมการบริหารพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง
วันนี้ (25 พ.ค. 63) ที่หน้ากองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนภูธรจังหวัดอุดรธานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมผู้ต้องหา 2 คดี ประกอบด้วย นายธนวัสถ์ นิลธนะพันธ์ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 444/8 ม.3 ต.บ้านเลื่อม อ.เมืองอุดรธานี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดอุดรธานี เลขที่ จ.72/2563 วันที่ 28 เมษายน 63 และนางเปี่ยมสุข แก้วมงคล อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 ม.10 ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย ตามหมายจับของศาลจังหวัดอุดรธานี จ.73/2563 วันที่ 28 เมษายน 63 ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ความเสียหายกว่า 75 ล้านบาท พร้อมของกลาง สมุดบัญชีธนาคาร 128 เล่ม บัตรกดเงินสด 69 ใบ โทรศัพท์ 5 เครื่อง เอกสารรวมลงทุน 1 ชุด
อีกคดีคือ นายสหรักษ์ รอดทอง อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 182/4 ถ.ราชนิคม ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในข้อกล่าวหา “ฉ้อโกงทรัพย์ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นที่น่าจะเกิดความเสียหาย พร้อมของกลาง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจำนวน 1 ชุด จำนวน 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง
พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า พฤติการณ์ของผู้ต้องหาคดี ฉ้อโกงประชาชนนั้น เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจาก น.ส.สลักฤทัย ภูนาโคก ชาว จ.กาฬสินธุ์ ว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 มีนายธนวัสถ์ และภรรยา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาด้วยกันได้โน้มน้าวชักชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการ "พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ" ในท้องที่ ต.สระใคร จ.หนองคาย
โดยเป็นโครงการร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการดำเนินการในโครงการครั้งนั้น หากต้องการร่วมลงทุน ผู้ร่วมลงทุนจะต้องซื้อที่ดินร่วมเพื่อพัฒนาโครงการจำนวน 35,000 ไร่ กลุ่มผู้ต้องหาได้อ้างว่าพื้นที่ที่ดินขายอยู่ในราคาไร่ละ 2.5 ล้านบาท โครงการต้องใช้งบประมาณในการลงทุน 87,500 ล้านบาท เมื่อขายโครงการได้จะได้กำไรหลายล้านบาท ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาได้อ้างว่าเงินจำนวนที่จะซื้อโครงการ ธนาคารโลกได้โอนผ่านมายัง สปป.ลาวแล้ว
“เริ่มแรกได้เสนอการร่วมลงทุน คือหากลงทุน 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทน 5 ล้านบาท และมีการนำเสนอโปรโมชันเพิ่มผลกำไรในการลงทุนอีกหลายรูปแบบ เช่น ลงทุน 1,000 บาท จะได้ผลตอบแทน 8-16 ล้านบาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อและระดมเงินเพื่อร่วมลงทุนจำนวนมาก”
หลังจากที่มีการร่วมระดมทุนในการจัดซื้อที่ดินแล้ว ปลายเดือนมกราคม 63 กลุ่มผู้ต้องหาได้มีการอ้างว่าเงินจากโครงการที่ได้มีการชักชวนนั้นกำลังจะได้รับการอนุมัติ และโอนจ่ายให้แก่ผู้ร่วมลงทุน เพื่อให้ผู้ที่ร่วมลงทุนได้รับเงินปันผลมากขึ้น และเป็นการทดสอบระบบการเบิกจ่ายเงิน ผู้ร่วมลงทุนจะต้องร่วมลงทุนในระบบชื่อว่า “โปรโบนัสเทสระบบ” ซึ่งหากลงทุน 1,000 บาท จะได้เงิน 4 ล้านบาท และ 15 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากโอนจ่ายเงินลงทุนในโครงการฯ ไปแล้ว กลุ่มผู้ต้องหาได้ผัดผ่อนและอ้างเหตุผลในการจ่ายเงินให้ผู้ร่วมลงทุนมาโดยตลอด จนเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2563 กลุ่มผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อกับกลุ่มผู้ต้องหาได้ จึงมั่นใจว่าถูกหลอก และพบว่ามูลค่าความเสียหายสูงกว่า 75 ล้านบาท
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสืบสวนจนสามารถรู้ตัวคนร้ายว่าได้หลบหนีไปพักอยู่ซอยลาดพร้าว 130 กทม. จึงนำหมายศาลเข้าทำการจับกุม จากการขยายผลตำรวจพบเงินหมุนเวียนมากกว่า 100 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับนายธนวัสถ์ นิลธนะพันธ์ หรือบอสอมร เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และ นางเปี่ยมสุข แก้วมงคล หรือบอสอุ้ม กรรมการบริหารพรรคการเมืองพรรคเดียวกัน โดยทั้ง 2 คนตั้งตัวเป็นบอสสายทุนพัฒนาชีวิตสองฝั่งโขง แก๊งเงินบุญขายโปรร้อยแลกล้าน มีคนหลงเชื่อทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีข้าราชการบางรายในภาคเหนือ สูญเงินเกือบ 3 ล้านบาท แต่ไหวตัวทันขอคืนทุนได้ครบ ขณะที่บุคคลทั้ง 2 ยังมีหมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ กรุงเทพฯ คดีฉ้อโกง หมดอายุความ ปี 2569 และศาลจังหวัดเลย ออกหมายจับ หลังหลบหนีไม่ไปฟังคำพิพากษาศาล คดีฉ้อโกงเงินยางพารา เพิ่งหมดอายุความวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา
พล.ต.ต.พิษณุ เปิดเผยอีกว่า สำหรับคดีฉ้อโกงทรัพย์ตรวจได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากนายนริศ ศรีวิโรจน์ อายุ 34 ปี ชาว จ.อุดรธานีว่าตนเปิดร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์มือสองทางเฟวบุ๊ค ต่อมาบุคคลใช้ชื่อเฟซบุ๊คว่า"Neeking Soser" ติดต่อขอเสนอขายรถจักรยานยนต์มือสองให้มีการนัดหมายตรวจสอบรถจักรยานยนต์
เมื่อตรวจสอบพบว่าจริงและราคาเหมาะสม ผู้เสียหายจึงได้โอนเงินจำนวน128,000 บาท ไปให้ แต่เมื่อโอนเงินไปแล้วเจ้าของที่นำรถจักรยานยนต์มาให้ตรวจสอบแจ้งว่ายังไม่มียอดการชำระเงินเข้าและแจ้งว่าชื่อบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินไปนั้นไม่ใช่บัญชีของเจ้าของรถและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับเจ้าของรถจักรยานยนต์แต่เมื่อทำการตรวจสอบบุคคลใช้ชื่อเฟซบุ๊คว่า "NeekingSoser" ก็ได้ปิดกั้นการมองเห็นและลบเฟซบุ๊คผู้เสียหายไป ไม่สามารถติดต่อได้ตำรวจจึงสอบสวนจนสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้
จากการสอบถามผู้ต้องหา รับสารภาพว่าเป็นผู้ที่ก่อเหตุจริง โดยจะสร้างเฟซบุ๊คปลอมขึ้นมา จากนั้นจะประกาศขอซื้อบัญชีเงินฝาจากบุคคลทั่วไปทางอินเตอร์เน็ต พร้อมขอรหัสลับเพื่อสามารถใช้ในการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ จากนั้นจะหาเหยื่อโดยนำภาพรถจักรยานยนต์ที่มีผู้ประกาศขายจริงทางเฟซบุ๊ค หลอกเข้าสอบถามเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์กันดังกล่าว แล้วเอาข้อมูลไปเสนอขายให้กับผู้ที่มีอาชีพซื้อรถจักรยานยนต์มือสองอีกทอด เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะให้โอนเงินไปยังบัญชีที่ได้ประกาศขอซื้อมา เมื่อได้เงินก็จะนำไปซื้ออุปกรณ์เล่นเกมส์ออนไลน์และใช้จ่ายฟุ่มเฟือย จากการขยายผลเบื้องต้น พบผู้เสียหายที่ถูกหลอกในลักษณะเดียวกันแล้ว 3 ราย รวมมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดีขอฝากไปถึงประชาชนผู้เสียหายรายใด เคยถูกหลอกในลักษณะเดียวกันเหมือน 2 คดี สามารถติดต่อแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี