เชียงราย - ตามส่องอุโบสถวัดเจดีย์หลวงเชียงแสน หลังกรมศิลป์เทงบฯ บวกเงินบริจาคบูรณะครั้งใหญ่ได้แค่ 3 ปี เสียหายหนักกว่าที่คิด พบมีทั้งมอดเจาะ-เสาแตก-หลังคาทรุด จนต้องติดป้าย-ขึงเชือกห้ามเข้า เจ้าอาวาสเผยขอเสาไม้สักก็ไม่ได้-ให้แช่น้ำยาก็ไม่ทำ
วันนี้ (17 พ.ค.) ความคืบหน้ากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาเรียกร้อง ป.ป.ช. ตรวจสอบกรมศิลปากรที่ใช้งบประมาณ 45 ล้านบาท รวมกับเงินบริจาคอีกจำนวนหนึ่ง บูรณะวัดเจดีย์หลวง ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์ 1 แต่ผ่านไปเพียง 3 ปี กลับเกิดความเสียหายอย่างหนักจนต้องปิดห้ามคนเข้านั้น
ล่าสุดพบว่า พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ได้ให้เจ้าหน้าที่ขึงเชือกฟาง-ติดป้าย “เขตอันตรายห้ามเข้า” รอบอุโบสถ เพราะเกรงว่าส่วนของหลังคาหรือแม้แต่โครงสร้างที่มีเสาค้ำยันจะทรุดตัวลงมาเนื่องจากเสาอุโบสถที่ทำด้วยท่อนซุงประมาณ 52 ต้น ปริแตกเกือบทุกต้น และบางต้นฐานทรุดเพราะเนื้อในไม้แตกออกมา โดยเฉพาะต้นเสาแถวที่ 4 จากด้านหน้านั้นแตกจนเห็นชั้นในและทรุดลงทำให้ส่วนคาน-ขื่อทรุดตัวตามลงมาด้วย โดยสามรถมองเห็นส่วนหลังคาที่อยู่ชั้นบนสุดจากทั้งหมดที่มี 3 ชั้นทรุดตัวจนไม่ขนานกับชั้นๆ อื่นได้ชัดเจน
พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทร กล่าวว่า หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนองค์เจดีย์หลวง เสียหายเมื่อปี 2554 ทางกรมศิลปากรได้ก็เข้าบูรณะวัดทั้งองค์เจดีย์ อุโบสถดังกล่าวและปรับภูมิทัศน์ทั่วไป รวมงบประมาณ 45 ล้านบาท โดยจัดสรรรดำเนินการปีละ 15 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 โดยมีระยะเวลาประกันก่อสร้าง 1 ปี ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดทางวัดและชาวบ้านเพียงแต่รับทราบ เพราะการออกแบบและจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรในฐานะที่ดูแลโบราณสถานดังกล่าว เมื่อแล้วเสร็จทางวัดก็ดูแลต่อ โดยมีญาติโยมและนักท่องเที่ยวเข้าชมในช่วงปกติ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด วันละประมาณ 1,000 คน แต่หลังบูรณะกันได้เพียง 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นความเสียหาย และวันที่ 2 พ.ค. 2562 หรือผ่านมาได้ประมาณ 3 ปี ทางวัดเห็นว่ามีความเสียหายหนัก โดยเฉพาะส่วนเสาที่ถูกแมลงกัดกินหนักและเสาก็ปริแตกเหมือนไม่ใช่ไม้เนื้อแข็งที่มีคุณภาพ จึงได้รายงานไปยังกรมศิลปากรให้ได้รับทราบ จากนั้นก็มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบบ่อยครั้งแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม
เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงกล่าวอีกว่า กระทั่งเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมาก็มีเสียงดังจากการลั่นของเนื้อไม้และพบว่าเสาต้นหนึ่งทรุด รวมทำให้หลังคาทรุดลงด้านหนึ่ง ทางคณะกรรมการวัดฯ จึงได้ตัดสินใจนำเชือกฟางไปขึงโดยรอบและติดป้าห้ยามเข้าเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่จะเข้าไปในอุโบสถ แต่ก็แนะนำให้ญาติโยมที่จะไปกราบไหว้บูชายังคงเดินทางไปได้แต่ขอให้อยู่ด้านนอกอุโบสถเพื่อความปลอดภัย และรอให้เจ้าหน้าที่ไปทำการซ่อมแซมก่อน
ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ได้ย้ายการทำพิธีกรรมของพระสงฆ์สามเณรในวันสำคัญๆ จากอุโบสถไปยังโรงฉันของวัดชั่วคราว และประสานกับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อขอให้นำโครงเหล็กมาค้ำยันเพื่อป้องกันการทรุดตัวลง เบื้องต้นก็ได้รับแจ้งจากผู้รับเหมาก่อสร้างที่เคยทำงานกับกรมศิลปากรว่าอาจจะต้องรื้อและก่อสร้างใหม่ โดยอยู่ระหว่างการร่างแบบแปลนและรอความชัดเจนจากกรมศิลปากร
“ตอนจะบูรณะอาตมาเคยแนะนำว่าขอให้ใช้เสาแถวกลางเป็นไม้สักเนื้อแข็งได้หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในแบบแปลน พอขอให้นำไม้ไปแช่น้ำยาป้องกันแมลงก่อน ก็ได้รับแจ้งอีกว่าไม่ได้อยู่ในสัญญาอีก โดยมีการใช้น้ำยาทาภายนอกเท่านั้น หรือแม้แต่ส่วนฐานก็เคยแนะนำให้สร้างฐานคอนกรีตสูงจากพื้นเล็กน้อย จากนั้นนำเสาไม้วางด้านบนอีกชั้น เพราะหากวางเสากับพื้นปลวกอาจเจาะเข้าไปได้ แต่ก็ได้รับแจ้งว่าไม่ได้อยู่ในแบบแปลนเช่นกัน กระทั่งเกิดความเสียหายดังกล่าว จึงขอให้ทางกรมศิลปากรได้เร่งรีบเข้าไปดำเนินการเพื่อให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนได้เข้ากราบไหว้บูชาและทำความดีได้ตามปกติต่อไป” พระครูวิจารณ์ธรรมสุนทรกล่าว
นางนุชพร ทองจำรัส คนทำความสะอาดวัดเจดีย์หลวง กล่าวว่า ตนดูแลทำความสะอาดอุโบสถตั้งแต่ยังไม่ได้บูรณะซ่อมแซม แต่พอซ่อมแซมเสร็จก็เริ่มพบมอดเข้าไปเจาะกินต้นเสาหลายต้นเป็นรูขนาดเท่าปากกาสอดได้จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ ต่อมาประมาณ 1-2 ปีก่อน จึงมีการนำน้ำยากำจัดแมลงมาทาและปิดรูที่มอดเจาะ แต่ก็เอาไม่อยู่ มอดยังคงเจาะต่อไปจนหลายต้นเป็นรูพรุน
ในห้วงเดียวกัน (ประมาณ 2 ปีก่อน) เสาหลายต้นก็ปริแตก เนื้อไม้ด้านในที่ตัวมอดเจาะก็ตกลงบนพื้นทำให้ตนต้องกวาดทำความสะอาดทุกวัน และเกรงว่าอุโบสถจะไม่แข็งแรงอีกต่อไป กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้หลังคาอุโบสถก็ทรุดลงเสียงดังลั่น ตนเห็นว่าไม่ปลอดภัยแล้วจึงได้ออกมาด้านนอกและทางวัดได้ติดป้ายห้ามเข้าดังกล่าว
สำหรับวัดเจดีย์หลวงเคยเสียหายหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 วัดความแรงตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ 6.7 มีศูนย์กลางอยู่ในรัฐฉานของพม่า และเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 วัดความแรงได้ 6.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ จ.เชียงราย โดยเฉพาะในปี 2554 ทำให้ส่วนยอดของพระธาตุพังตกลงมา นอกจากนี้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาเกิดพายุพัดกระหน่ำ อ.เชียงแสน ทำให้ต้นไม้ล้มระเนระนาดและคาดว่าจะส่งผลต่อโครงสร้างที่เสียหายมาก่อนหน้านี้แล้วอีกด้วย