xs
xsm
sm
md
lg

FIO ลุยเข้มตรวจปุ๋ยปลอมอีสานใต้ พบพิรุธไม่มีชื่อโรงงานผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - FIO เดินหน้ากวาดล้างการทุจริต และจำหน่ายปุ๋ยปลอม พื้นที่ภาคอีสานเจอหนัก กทบ.จัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ปลอมขายให้สมาชิก พบพิรุธไม่มีชื่อโรงงานผลิต คาดทำเป็นขบวนการ สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจมหาศาล


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ก้องภพ วังสุนทร ประธานกรรมการบริหารองค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ได้มอบหมายให้ นายพิทธิรัตน์ นามศิริ รองประธานภาคอีสานตอนล่าง องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ดำเนินการแจ้งความเอาผิดผู้ประกอบการและกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ที่ร่วมกันนำเงินภาษีของประชาชน ตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนปี 2563 งบประมาณ 200,000 บาท กำลังลงสู่หมู่บ้านทั่วประเทศขณะนี้ ไปซื้อ-ขายปุ๋ยปลอม


ล่าสุด นายพิทธิรัตน์ นามศิริ รองประธานภาคอีสานตอนล่าง องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ได้ร่วมกับ ร.ต.อ.สุวิจักษ์ ดีใจ รอง สว.(สอบสวน) สภ.สำโรง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี และนายจิตติชัย ใหญ่ผา นักวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างปุ๋ยซึ่งไม่แสดงตราสัญลักษณ์ สถานที่ผลิต รายละเอียดอื่นๆ บนถุงบรรจุ ที่บ้านเกษตรกร 5 ราย ในพื้นที่ ต.โนนกลาง, ต.ขามป้อม, ต.หนองไฮ อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี โดยมีเกษตรกรรายที่ 5 บ้านนางาม ม.5 ต.ขามป้อม อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ไม่ยินยอมให้เก็บตัวอย่างปุ๋ย

เมื่อเก็บตัวอย่างปุ๋ยทั้ง 4 จุด รวม 12 ถุง เสร็จเรียบร้อย พนักงานสอบสวน สภ.สำโรงได้ส่งมอบปุ๋ยตัวอย่างดังกล่าวไปตรวจวิเคราะห์ตามระเบียบและวิธีการที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบแหล่งที่มาต่อไป

นายพิทธิรัตน์ นามศิริ รองประธานภาคอีสานตอนล่าง องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตการซื้อขายปุ๋ยปลอมในพื้นที่อีสานใต้


ดร.ก้องภพ วังสุนทร ประธานกรรมการบริหารองค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น นอกจากขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่ดี เช่น ปลูกพืชเหมาะสมกับสภาพดิน หรือแหล่งน้ำแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยผลิต เช่น ปุ๋ย ยา ต้องมีคุณภาพ ต้องนำมาใช้ในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืชอีกด้วย

แต่เกษตรกรบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ โดยเฉพาะวิธีนำปัจจัยการผลิตมาใช้ในแปลงเกษตรจะต้องมีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม ผู้ประกอบการร้านค้าไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกร มีผลให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2563 องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ได้แจ้งความคดีปุ๋ยปลอมในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มาครั้งหนึ่งแล้ว ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 (แก้ไข พ.ศ. 2550) ผู้จำหน่าย-ผู้ผลิตปุ๋ยปลอมจะมีความผิด ส่วนกรรมการกองทุนหมู่บ้านอาจจะเข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งการกระทำครั้งนี้ถือว่าสร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจมหาศาล องค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ได้รวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการและกรรมการกองทุนหมู่บ้านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น