เหลือทน แจ้งจับประธานเครือข่าย กทบ.อ.ยางตลาด ปลอมเอกสารทางราชการและโกงเงินกองทุน หอบหลักฐานหารือองค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) ก่อนพาเข้าแจ้งความเอาผิด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 63 ดร.ก้องภพ วังสุนทร ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต (FIO) พร้อมด้วย นางขนิษฐา วาทวิจารณ์ ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต ภาคอีสานตอนบน, พันโท ดร.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ที่ปรึกษาภาคอีสานตอนบน และกรรมการภาคอีสานตอนบน ได้นำประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน ต.หัวนาคำ, ต.โนนสูง, ต.คลองขาม และ ต.หัววัว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ในข้อหาปลอมเอกสารและฉ้อโกง โดยมี พ.ต.ท.วิชชุกร ภูตา สว.(สอบสวน) สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ รับแจ้งและสอบสวนปากคำผู้เสียหายในเบื้องต้น
ดร.ก้องภพ วังสุนทร ประธานองค์การสืบสวนการทุจริต FIO เปิดเผยว่า ได้รับการร้องทุกข์จากประธานกองทุนหมู่บ้านในภาคอีสานหลายอำเภอมีความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากพฤติกรรมเรียกเก็บเงินของประธานเครือข่ายระดับอำเภอหลายอำเภอ ตั้งแต่การเซ็นรับรองงบดุลประจำปีทุกๆ ปี ต้องจ่ายให้ประธานเครือข่าย ตั้งแต่กองทุนละ 1,000-4,000 บาท
นอกจากนั้นยังต้องจ่ายค่าทำหนังสือนำส่งและรับรองเอกสาร ค่าตรวจเอกสาร ในการขออนุมัติและเบิกจ่ายเงินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2563 กองทุนละ 200,000 บาท ตามการตกลงระหว่างประธานกองทุนหมู่บ้านกับประธานเครือข่ายอำเภอ ตั้งแต่กองทุนละ 10,000-50,000 บาท หรือบางอำเภอจะมากกว่านี้
ซึ่งถ้าไม่มีลายเซ็นประธานเครือข่ายระดับอำเภอ สทบ.ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ และธนาคารก็ไม่เบิกจ่ายเงินให้ ซึ่งไม่มีระเบียบฯ ใดๆ ระบุว่าต้องทำแบบนี้
บางกองทุนหมู่บ้านได้ทำตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2563 ทุกประการ โดยไปยื่นต่อศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดถึง 3 รอบก็ไม่ผ่าน โดยมีเจ้าหน้าที่ สทบ.บอกว่าไม่ผ่าน งบดุลประจำปีต้องผ่านการรับรองและมีลายเซ็นจากเครือข่ายระดับอำเภอเท่านั้นถึงจะผ่าน
แต่บางกองทุนหมู่บ้าน บางตำบล บางอำเภอ ไม่ได้ทำเอกสารหรือเอกสารไม่ครบ บางกองทุนมีแค่แบบคำขอรับการสนับสนุนโครงการก็ผ่านการอนุมัติงบประมาณแล้ว
ดร.ก้องภพกล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ (ข้อหาฉ้อโกง) ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงประชาชน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.ก้องภพกล่าวต่อว่า กรณีที่เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านเข้าแจ้งความกล่าวโทษในวันนี้เนื่องจากประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อ.ยางตลาด กระทำการเข้าข่ายความผิดอาญา 2 คดี คือ 1) เข้าข่ายความผิดอาญา มาตรา 264 ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ โดยมีการจัดทำเอกสารขึ้นมาฉบับหนึ่งเพื่อให้ตนเองมีอำนาจในการลงนามหนังสือแจ้งธนาคารก่อน ธนาคารจึงจะให้กองทุนหมู่บ้านเบิกถอนเงินในบัญชีธนาคารของกองทุนหมู่บ้านได้
หากกองทุนใดไม่มีหนังสือจากประธานเครือข่ายอำเภอ ธนาคารจะไม่ให้เบิกเงินในบัญชีของกองทุนหมู่บ้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ ซึ่งในข้อเท็จจริง ตามระเบียบ สทบ.แห่งชาติ ไม่มีเอกสารดังกล่าว และกองทุนหมู่บ้านมีฐานะเป็นนิติบุคคล และ 2) เข้าข่ายความผิดอาญา มาตรา 343 ฉ้อโกงประชาชน โดยมีการปิดบังข้อเท็จจริงว่าจะต้องมีลายเซ็นของประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านอำเภอ โครงการถึงจะผ่านและสามารถเบิกถอนเงินได้
ซึ่งตามระเบียบของ สทบ.แห่งชาติไม่เป็นจริงตามนั้น และถ้ากองทุนใดไปขอลายเซ็น ประธานอำเภอก็จะแจ้งว่าจะต้องเอาผู้ประกอบรายที่ประธานเครือข่ายอำเภอแจ้งเท่านั้นจึงจะลงนามในเอกสารให้