กาญจนบุรี - เจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินเสี่ยพันล้าน กก.บริษัท ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง หลังอ้างมี ส.ค.1 ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ
วันนี้ (5 พ.ค.) นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการเด็ดขาดต่อนายทุนผู้บุกรุกป่า
ในวันนี้ ตนเองพร้อมด้วยนายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายยุทธพงศ์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย (ชุดพญาเสือ) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี จำนวน 10 นาย ได้ร่วมกันตรวจสอบ พร้อมด้วย น.ส.อริศา น้อยทิพย์ ตัวแทนของเจ้าของที่ดิน 25 ไร่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โดยอ้างว่ามี ส.ค.1 และที่ดินดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนการครอบครอบที่ดินตามมติ ครม.30 มิ.ย.2541 ที่คณะกรรมการพิสูจน์สิทธิที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์จังหวัดกาญจนบุรี มีมติรับรองในปี พ.ศ.2552 ว่า นายวราชัย ส่งวัฒนา อยู่อาศัย หรือทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณได้
สืบเนื่องมาจาก กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง อายุ 52 ปี มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 77/3 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ได้มอบอำนาจ ให้ น.ส.อริศา น้อยทิพย์ มาแจ้งการครอบครองในที่ดินอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 จำนวน 25 ไร่
ทั้งนี้ เพื่อสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ อุทยานแห่งชาติ 2562 ฉบับใหม่ ที่ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดการสำรวจถือครองที่ดินของประชาชนในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เมื่อสำรวจเสร็จแล้วจะตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้ประชาชนอยู่อาศัยหรือทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง คนดังกล่าว อ้างว่า ได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเอราวัณ โดยมีหลักฐาน เป็น ส.ค.1 ในปี พ.ศ.2498 แต่ไม่ได้นำเอกสาร ส.ค.1 ตามที่ได้กล่าวอ้างมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด และที่ดินดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนการครอบครอง ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 เมื่อปี พ.ศ.2552 ไว้แล้ว
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงได้ตรวจสอบหลักฐานย้อนหลังของที่ดินดังกล่าว พบว่า ที่ดินดังกล่าวนั้นเคยมอบให้ผู้แทนมาแจ้งการครอบครองเมื่อปี พ.ศ.2552 โดยใช้หลักฐานใบ ภ.บ.ท.5 เนื้อที่ 24 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ได้ที่ดินมาโดยการซื้อต่อมาจาก นางบุญยืน มังกะโรทัย และหลักฐาน ส.ค.1 เลขที่ 27 ปี พ.ศ.2498 เนื้อที่ 20 ไร่ เจ้าของเดิม คือ นางไม้ ประทุมทอง
ต่อมา ที่ดินดังกล่าวได้มีการรับรองขึ้นทะเบียนการครอบครองที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 โดยคณะกรรมการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 1/2552 มีมติ วันที่ 24 ก.ย.2552 รับรองว่า กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง คนดัวกล่าว เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงเลขที่ 51 เนื้อที่จำนวน 21 ไร่ 1งาน 60 ตารางวา อยู่อาศัยหรือทำกินก่อนประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเอราวัณในปี พ.ศ.2518 แปลงเลขที่ 51/1 และแปลงเลขที่ 51/2 เนื้อที่รวม 2 แปลง จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา อยู่อาศัยหรือทำกินหลังประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณในปี พ.ศ.2518
แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้รับคำแนะนำจากผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เห็นว่ามติของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เบื้องต้น เพื่อนำเสนอขออนุมัติรับรองผลการตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ จนถึงปัจจุบันนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังมิได้อนุมัติรับรองผลการตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด จึงยังไม่อาจถือได้ว่า กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดังคนดังกล่าว ได้รับการผ่อนปรนให้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินดังกล่าวตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 เทียบเคียงกับคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ อส.31/2559 ที่เคยวางบรรทัดฐานตัดสินไว้
ประกอบกับมีหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติฯที่ ทส.0906.503/6461ลงวันที่ 12 เม.ย.2555 และหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่ ทส.0906.503/4287 ลงวันที่ 27 ก.พ.2558 ได้แจ้งให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 สรุปได้ว่า ราษฎรที่แจ้งการครอบครองที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ที่จะได้รับการผ่อนปรนให้อยู่อาศัยหรือทำกินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 นั้น จะต้องเป็นราษฎรเดิมที่อยู่อาศัย หรือทำกินด้วยตนเอง ก่อนหรือหลังวันประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ตามกฎหมายครั้งแรกและต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องด้วยตนเองจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2541 ด้วย จะมอบอำนาจการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ในป่าอนุรักษ์ให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เพราะที่ดินในเขตดังกล่าว เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไม่อาจโอนหรือซื้อขายกันได้
เมื่อพิจารณาหลักฐานแล้ว กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร มีตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง จึงเป็นบุคคลภายนอกมิใช่เจ้าของเดิม ที่อยู่อาศัยหรือทำกินด้วยตนเองก่อนหรือหลังวันประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เมื่อปี พ.ศ.2518 และต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องด้วยตนเองมาจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2541 และที่ดินแปลงดังกล่าวได้มาจากการซื้อ หรือโอนมาจากผู้อื่น จึงไม่ได้รับการผ่อนปรนให้อยู่อาศัย หรือทำกินในที่ดินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเอราวัณได้
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จึงทำหนังสือที่ ทส.0913.603/ ลงวันที่ 1 พ.ค.2563 สั่งให้กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ส่ง ส.ค.1 ตามที่กล่าวอ้าง และพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในที่ดินดังกล่าวด้วยตนเอง และต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องด้วยตนเอง ก่อนหรือหลังประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเอราวัณในปี พ.ศ.2518 ภายในเวลากำหนดนับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณ
ล่าสุด วันนี้จึงได้นัด น.ส.อริศา น้อยทิพย์ ตัวแทนของกรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดังร่วมกันตรวจสอบ ส.ค.1 เลขที่ 27 ปี พ.ศ.2498 จำนวน 20 ไร่ ของนางไม้ ประทุมทอง ที่เคยนำมาเป็นหลักฐานแจ้งการครอบครองในที่ดินอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งผลการตรวจสอบ ปรากฏว่า ส.ค.1 เลขที่ 27 ดังกล่าว ไม่ตรงกับที่ดินของกรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดังแต่อย่างใด
ต่อจากนี้ หากกรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ไม่ส่ง ส.ค.1 ตามที่อ้างว่าได้แจ้งการครอบครองที่ดินในเขตอุทยานเอราวัณไว้ในวันที่ 13 มี.ค.พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา หรือพยานหลักฐานอื่นๆ ภายในเวลาที่กำหนดหรือส่งภายในเวลากำหนดแล้ว แต่มีหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีเหตุผลไม่เพียงพอ ถือได้ว่าไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ถือว่า กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามมติ ครม.30 มิ.ย.41 ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในปี พ.ศ.2552 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดังจะต้องออกไปจากที่ดินดังกล่าว และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พืชผล อาสิน ในที่ดินดังกล่าวไปให้พ้นจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ในเวลาที่กำหนด หากยังดื้อเเพ่ง ไม่ดำเนินการแล้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จะเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 19 (1) พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ประกอบมาตรา 59 ประมวลกฎหมายอาญา ข้อหา มีเจตนายึดถือ ครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษหนัก ระวางโทษจำคุก 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท ต่อกรรมการบริษัทห้างสรรพสินค้าชื่อดังต่อไป