กาญจนบุรี - เสี่ยอดีตผู้จัดการบริษัทนมดัง ยอมรื้อคฤหาสน์หรูบรรยากาศซีวิวบนยอดเขา อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ มูลค่ากว่า 5 ล้านบาทแล้ว หลังยื้อมานานกว่า 6 ปี
วันนี้ (17 เม.ย.) นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ นายยุทธพงศ์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย ชุดพญาเสือ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จำนวน 10 นาย ได้มาตรวจติดตามการรื้อถอนคฤหาสน์หรู ราคา 5 ล้านบาท ของนายโชคชัย ศุภวานิช อดีตผู้จัดการบริษัทนมชื่อดัง
ที่ได้ปลูกสร้างบุกรุกบนยอดเขาอุทยานแห่งชาติเอราวัณ เนื้อที่ 1ไร่ 3 งาน 85 ตาราวา โดยนายโชคชัย ได้ยินยอมรื้อถอนคฤหาสน์หรูของตนเองไปให้พ้นจากอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ให้กลับคืนสภาพตามธรรมชาติดังเดิม ซึ่งนายโชคชัย ได้ว่าจ้างให้คนงานมาทำการรื้อถอนคฤหาสน์หรู ดังกล่าวมาได้ประมาณ 6-7 วันแล้ว
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากคดีนี้นายปรยุษณ์ ไวว่อง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ ได้ใช้มาตรการทางปกครอง กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ มาปิดประกาศคำสั่งรื้อถอนคฤหาสน์หรูของนายโชคชัย ในวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2563 และจะครบกำหนดรื้อถอนในวันที่ 13 เมษายน 2563
ซึ่งตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับใหม่ มาตรา 35 (2) หากครบกำหนดเวลาตามประกาศคำสั่งรื้อถอนแล้ว ฝ่าฝืนไม่ยอมรื้อถอน มีโทษตามมาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท และโทษปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท
นายโชคชัย มีความเกรงกลัวต่อกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ จึงได้ทำการรื้อถอนคฤหาสน์หรูของตนเองก่อนถึงวันครบกำหนดรื้อถอนในวันที่ 13 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นผลดีต่อนายโชคชัย เองที่ไม่ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคำสั่งซึ่งมีโทษจำคุก และปรับ และทางราชการก็ไม่ต้องเสียงบประมาณในการรื้อถอน
ส่วนในคดีอาญา ศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีคำพิพากษาตัดสินไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 จำคุกนายโชคชัย เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ และนายโชคชัย ได้ประกันตัวออกมายื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อสู้คดีต่อไป
สำหรับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เป็นคฤหาสน์ นายโชคชัย ได้ให้คนงานเข้ามารื้อถอนแล้วก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน การดำเนินการรื้อถอนคืบหน้าไปแล้วประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าอีกประมาณ 2 อาทิตย์ การรื้อถอนก็คงจะแล้วเสร็จ หลังจากนั้นอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาสู่สภาพป่าธรรมชาติดังเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคฤหาสน์หรูหลังนี้ คณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เข้าตรวจสอบ และตรวจยึดพร้อมติดประกาศตรวจยึดดำเนินคดี และห้ามบุคคลใดเข้าทำประโยชน์โดยเด็ดขาด ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย.2557 เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่า อยู่นอกแปลงสำรวจถือครองตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิ.ย.2541
โดยที่ผ่านมา ได้มีการต่อสู้คดีมาจนล่วงเลยมาถึงปี พ.ศ.2563 เป็นระยะเวลายาวนานถึง 6 ปี เจ้าของคฤหาสน์หลังดังกล่าวจึงยินยอมดำเนินการรื้อถอนด้วยตนเอง ซึ่งการรื้อถอนคฤหาสน์หรูหลังนี้ นับว่าเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ต้องจำยอม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ เนื่องจากมีโทษที่รุนแรงมาก