น่าน - คนเมืองน่านแห่แชร์ชื่นชมกันกระหึ่ม..หมออนามัยขึ้นเขา-ข้ามลำห้วย ตามดูแลคนกักตัวบนดอย หรือหุบเขาหุบห้วยเมืองปัว-แม่จริม บอกหอบเหนื่อยกันบ้าง..แต่แค่พักก็หายแล้ว หวังแค่คนน่านปลอดโควิด
ขณะนี้ผู้คนในโลกโซเชียลฯ ต่างพากันแชร์โพสต์-ร่วมชื่นชม “หมออนามัย” รพ.สต.บนดอย ที่มุมานะเดินทางข้ามเขา ข้ามลำห้วย ฝ่าเส้นทางแสนลำบาก ตรวจชาวบ้านกักตัวบนยอดดอยหรือป่วยเป็นไข้ถึงที่ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับบริการสุขภาพที่ดี มีความปลอดภัยจากความเสี่ยง
หลังเพจ สื่อสารโควิด 19 น่าน ได้เผยแพร่ภาพ-เรื่องราวชีวิตหมออนามัยกับการดูแลสุขภาพของผู้ที่กักตัวที่ รพ.สต.บนดอย ที่ห่างไกลจากความเจริญ โดยระบุข้อความว่า “..ขอส่งกำลังใจก้อนโตๆ มอบให้หมออนามัย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องที่กักตัว 14 วัน ทุกท่านครับ..”
เรื่องเล่าชีวิตหมออนามัยกับการดูแลสุขภาพของผู้ที่กักตัวที่เผยแพร่ผ่านเพจ “สื่อสารโควิด 19 น่าน” สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำหน้าที่ของหมออนามัย และเจ้าหน้าที่ อสม.ในพื้นที่ห่างไกล-ถิ่นทุรกันดาร ต.ภูคา อ.ปัว และ ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ที่ต้องเดินเท้าขึ้นเขา ข้ามลำห้วย เพื่อไปดูแล รักษา ตรวจ ให้คำแนะนำ ผู้ป่วยรวมถึงผู้ที่ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน หลังถูกเลิกจ้างงานแล้วกลับมาอยู่บ้าน
ซึ่งผู้ที่ต้องกักตัวเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา ใช้วิธีแยกกักตัวเองไปอยู่ที่ห้างไร่ (กระท่อม) หุบห้วยลึกห่างไกลจากผู้คน (หากเป็นลูกสาวก็ให้กักตัวอยู่บ้านแล้วให้พ่อแม่ไปอยู่ห้างไร่แทน) กระจัดกระจายอยู่ตามไหล่เขา และจะเลือกอยู่ใกล้ลำห้วยที่มีน้ำอาบ น้ำใช้ น้ำดื่ม อาหารบางส่วนก็สามารถหาได้ในห้วย เช่น ปลา สัตว์น้ำอื่นๆ หัวปลีจากกล้วยป่า ส่วนข้าวและอาหารแห้ง ญาติก็จะนำมาเตรียมไว้ให้ก่อนที่คนกักตัวจะเดินทางมาถึง เพื่อที่จะช่วยกันป้องกันไม่นำพาเชื้อโรคไปสู่คนอื่นๆ ในชุมชน
นายสมพงษ์ กันยะ หมออนามัยตำบลภูคา อ.ปัว จ.น่าน เล่าว่า แม้จะไปกักตัวเองไกลแค่ไหน ทั้งหมออนามัย และเจ้าหน้าที่ก็จะดั้นด้นไปหา แม้เส้นทางการเดินทางจะยากลำบากต้องใช้มอเตอร์ไซค์ขี่ลัดเลาะภูเขาที่สูงชันไปตามทางเดินเล็กๆ เป็นทางดินอันคับแคบคดเคี้ยวที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางไปไร่ หากไม่ชำนาญทางก็ขับขี่ไปไม่ได้ พลาดพลั้งก็ดิ่งลงหุบเหวลึก หมดทางรถก็นำมอเตอร์ไซค์ไปจอดไว้ข้างทางแล้วลงเดินลัดเลาะตามไหล่เขาลงห้วยเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย แต่ทีมงานเหล่านี้ก็ไม่ย่อท้อ เพียงอยากให้ทุกคนปลอดภัย ปลอดโรค
อีกทั้งการทำงานไม่ได้มีแค่ 14 วันตามกำหนดระยะเวลาที่ต้องกักตัว แต่เป็นการทำงานทุกๆ วัน เพราะคนที่กลับบ้านไม่ได้มาพร้อมกัน ต่างคนต่างมา ทีมงานจึงต้องออกไปติดตามเยี่ยมให้กำลังใจผู้ที่กักกันตัวเองทุกวัน รายใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยก็อาศัยการโทรศัพท์ถามไถ่ให้คำปรึกษากันไป
แต่ในรายที่อยู่ตามหุบเขาหุบห้วยไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ วิธีเดียวที่ทำได้คือการไปพบด้วยตนเอง นี่คือภารกิจบนดอยสูงท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ ก็เล่นเอาทีมงานออกอาการหอบเหนื่อยกันบ้าง แต่แค่พักก็หายเหนื่อย หายเหนื่อยแล้วก็ไปต่อ ไปต่อไปเพื่อจุดหมายปลายทาง “คนน่านปลอดโควิด-19”