xs
xsm
sm
md
lg

วท.ฉะเชิงเทรา ผลิตเครื่องช่วยหายใจ-ตู้ควบคุมไวรัสราคาหลักพันช่วยแพทย์​ลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา ​- ฝีมือเด็กอาชีวะ​! วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ผลิตเครื่องช่วยหายใจราคาหลักพัน เสริมศักยภาพโรงพยาบาล​สนามรับมือโควิด-19 พร้อมส่งมอบตู้ควบคุมเชื้อไวรัสความดันลบให้โรงพยาบาล​พุทธโสธร​ จำกัดพื้นที่การกระจายของโรคสู่บุคลากรทางการแพทย์

วันนี้​ (21 เม.ย.)​ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย ว่าที่ พ.ต.วัชรพล ลักษณลม้าย ผู้อำนวยการ​วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกันส่งมอบห้องควบคุมโรคความดันลบ จำนวน 4 ตู้ พร้อมเครื่องช่วยหายใจราคาประหยัด จำนวน 1 เครื่อง ให้แก่​แพทย์​หญิง​ สมบัติ ชุติมานุกูล ผู้อำนวยการ​โรงพยาบาลพุทธโสธร เพื่อช่วยเหลือด้านการทำงานของแพทย์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติ

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา​ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ได้ทำการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยแบบราคาประหยัดที่ใช้ต้นทุนในการประดิษฐ์ต่อเครื่องในราคาไม่เกิน 1 หมื่นบาท​ ซึ่งถือว่ามีราคาถูกกว่าเครื่องช่วยหายใจทางการแพทย์ทั่วไปที่มีมูลค่านับแสนบาท และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบอัตโนมัติในโรงพยาบาลสนาม​ ก็สามารถที่จะทำการประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ทดแทนเครื่องช่วยหายใจทางการแพทย์ที่มีราคาสูงได้ เพื่อให้ทันต่อการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ การผลิตเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวจะมีการพัฒนาเครื่องต้นแบบที่ต้องปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ทำการรักษา​ เพื่อให้มีประสิทธิภาพใน​การทำงานที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าราคาต้นทุนดำเนินงานโดยรวมไม่น่าจะเกิน 15,000 บาท

นอกจากนั้น ​วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา​ ยังได้ส่งมอบตู้ความดันลบสำหรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อให้แก่โรงพยาบาล​ อีกจำนวน 4 ตู้ รวมมูลค่า 5 หมื่นบาท

ดร.สุเทพ ยังเผยอีกว่า การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์​ทางการแพทย์ทั้ง​ 2​ โครงการนี้​ วิทยาลัยได้นำเงินงบประมาณจากศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน จำนวน 65,000 บาท มาดำเนินเพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลในการลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างทำหัตถการ ที่อาจมีความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้กับผู้ติดเชื้อโควิด-​19

ด้าน แพทย์​หญิง​สราพร มัทยาท รองผู้อำนวยกา​รกลุ่มภารกิจพัฒนาบริการและสนับสนุนบริการ หัวหน้าทีมปฏิบัติการโควิด-19 โรงพยาบาลพุทธโสธร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาล​ฯมีความพร้อมในการรักษาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวนมากถึง 42 รายแล้ว และสามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้จำนวนสูงสุด 21 ราย โดยมีจำนวนผู้ป่วยรักษาแล้ว 9 ราย

ขณะที่ผู้อำนวยการ​โรงพยาบาล​พุทธโสธร กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบั​นยังไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มติดต่อกันเป็นเวลา 14 วันแล้ว จากเดิมมีผู้ป่วยในพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 21 ราย​ และได้รับการรักษาทั้งในโรงพยาบาล​พุทธโสธร และโรงพยาบาล​ในกรุงเทพฯ จนหายกลับบ้านได้ จำนวน 19 ราย เสียชีวิต 1 ราย และยังคงมีนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล​ที่กรุงเทพฯ อีกเพียง 1 รายเท่านั้น จึงถือว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ










กำลังโหลดความคิดเห็น