xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เรื่องเล่าหนุ่มเมืองเลย กางเต็นท์นอนนากักตัว 14 วันดูอาการโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลย - หนุ่มวัย 36 ปีชาวหนองหิน จ.เลย กลับจากฝึกอบรมประเทศญี่ปุ่น ทันทีที่ถึงเมืองไทยตรงดิ่งไปยังกระท่อมปลายนาของครอบครัวเพื่อกักตัวเอง 14 วันดูอาการติดไวรัสโควิด-19 หรือไม่ เผยไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ต้องใช้เครื่องปั่นไฟให้แสงสว่างและชาร์จมือถือติดต่อพ่อแม่ รายงานข้อมูลให้บริษัทและ จนท.รพ.สต.






การกักตัวเองไม่สุงสิงกับใคร 14 วันเป็นมาตรการที่รัฐบาลกำหนดให้ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงต่างประเทศปฏิบัติทันทีที่กลับมาถึงภูมิลำเนาในเมืองไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด- 19 ซึ่งในพื้นที่จังหวัดเลยมีบุคคลที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายราย อย่างกรณีล่าสุดในรายของ นายพิทักษ์ พุทธวอร์ หนุ่มหนองหิน วัย 36 ปี เพิ่งกลับจากประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในบัญชีประเทศกลุ่มเสี่ยง

พิทักษ์ยินดีให้ความร่วมมือกับมาตรการดังกล่าว แม้ตัวเขาเองไม่มีอาการเข้าข่ายติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด หลังเดินทางกลับไทยและมาถึง อ.หนองหิน จ.เลย บ้านเกิด ก็มุ่งหน้าไปยังกระท่อมปลายนาของพ่อแม่ทันที แม้แวะไปกราบสวัสดีพ่อแม่เขาก็ยังตัดใจ ณ วันนี้ ได้ครึ่งทางแล้วสำหรับการกักตัว 14 วันของเขา

พิทักษ์เล่าว่า เขาทำงานเป็นพนักงานบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เดินทางไปฝึกอบรมงานที่ประเทศญี่ปุ่น 1 ปี ครบกำหนดเดินทางกลับวันที่ 7 มีนาคม 2563 เป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 พอดี ก่อนจะเดินทางกลับ เขาและเพื่อนๆ ก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ศูนย์ฝึกอบรม ได้มีการวัดอุณหภูมิร่างกายพนักงานทุกคนก่อนปฏิบัติงานทุกวันตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา


กระทั่งถึงวันที่ต้องเดินทางกลับ ก่อนขึ้นเครื่องและอยู่บนเครื่อง มีหน้ากากปิดจมูก 2 ผืน ไม่เปิดหน้ากาก และไม่กินอะไรทั้งวัน หลังจากลงเครื่องบิน บริษัทฯ ส่งรถตู้มารับกลับบ้านที่ชลบุรี ซึ่งตนได้พูดคุยกับภรรยาที่บ้านล่วงหน้าไว้แล้วให้เตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตกักตัวเอง 14 วันใส่รถไว้ให้ และให้รถจอดไว้รอหน้าบ้าน เขามีเวลาคุยกับภรรยาผ่านรั้วกั้นราว 10 นาที ยืนห่างกันประมาณ 10 เมตร เขาไม่ได้เข้าไปเหยียบบริเวณภายในรั้วบ้านของตัวเองเลย


หลังจากนั้นเขาได้ขับรถจากบ้านที่ชลบุรีมุ่งหน้ามายังบ้านเกิดที่จังหวัดเลย เป้าหมายแรกคือเถียงนา ที่ห่างจากชุมชนหมู่บ้านมากพอสมควร ระหว่างเดินทาง อาหารมื้อแรกที่ตกถึงท้องเป็นอาหารในปิ่นโตที่ภรรยาเตรียมไว้ให้ จนกระทั่งเช้าของวันที่ 8 มีนาคมก็เดินทางมาถึงเถียงนา ซึ่งทางบ้านพ่อแม่ที่จังหวัดเลยได้เตรียมไว้รองรับไว้หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็เจออุปสรรคหลายอย่าง เมื่อคนในหมู่บ้านรู้ข่าวว่ามีคนเดินทางจากต่างประเทศ ซ้ำมาจากประเทศญี่ปุ่นด้วย ชาวบ้านยิ่งกังวล กลัวไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ ข่าวสะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว เขาดูเหมือนจะเป็นตัวปัญหาของชุมชนท้องถิ่น ทั้งที่ตัวเขาไม่ได้ไปเหยียบในหมู่บ้านเลย

แต่ในเช้าวันถัดไปปัญหาก็คลี่คลายลง เมื่อผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ อสม.ได้ประสานงานร่วมกับสาธารณสุขอำเภอหนองหินเข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 และวิธีการป้องกัน รวมทั้งความรู้ต่างๆ เกี่ยวข้องกับวิธีการป้องกันตัวเอง ทำให้ชาวบ้านมีความเข้าใจมากขึ้น

พิทักษ์เล่าอีกว่า ความเป็นอยู่ที่กระท่อมปลายนาไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา แต่ด้วยความที่ว่าครอบครัวของตนเป็นเกษรกร มีบ่อน้ำบาดาลอยู่บริเวณเถียงนาด้วย จึงใช้เครื่องปั่นไฟดูดน้ำขึ้นมาใช้ และชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน รวมถึงกาต้มน้ำร้อน ส่วนอาหารที่พ่อแม่ให้คนนำมาส่งจะถูกใส่ถุงพลาสติกและแขวนไว้ที่หน้ากระท่อม ตนก็จะมีแอลกอฮอล์ไว้สำหรับให้คนที่มาส่งอาหารได้ทำความสะอาดมือก่อนย้อนกลับเข้าบ้าน

“สภาพที่พัก อากาศร้อนมาก และการนอนคนเดียวกลางทุ่งมันน่ากลัวพอควร แต่ละวันตนวัดไข้วันละ 3 รอบ เช้า กลางวัน เย็น แล้วส่งให้ผู้บริหารและพยาบาลที่บริษัทรวมทั้งเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ของตำบลปวนพุด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่อนามัยก็ได้แวะเข้ามาเยี่ยมเป็นประจำ ผู้บริหารที่บริษัทก็คอยคุยผ่านทางไลน์กลุ่มทุกวัน ติดตามอาการอย่างดีมาตลอด” พิทักษ์กล่าว และว่า


ณ วันนี้ คือวันที่ 16 มีนาคม 2563 เข้าสู่วันที่ 10 แล้ว สภาพร่างกายของพิทักษ์ยังปกติดี แต่เขาบอกว่าคิดถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องอย่างมาก อยู่ห่างกันแค่เอื้อมก็ยังไม่ได้เจอแบบใกล้ชิดเลย แต่ก็บอกตัวเองว่าต้องอดทน ต้องอยู่ให้ได้

“ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เป็นกำลังใจ สิ่งที่ผมทำอยู่นี้เป็นการรับผิดชอบต่อตนเอง เป็นเพียงกำลังเล็กๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และผมคิดว่าถ้าผมทำได้ ทุกคนก็ทำได้ สังคมจะดีต้องเริ่มต้นที่คนในสังคมต้องเป็นคนดีครับ” นายพิทักษ์กล่าวทิ้งท้ายก่อนเราจะปิดฉากการสนทนาผ่านสมาร์ทโฟน


กำลังโหลดความคิดเห็น