xs
xsm
sm
md
lg

ไม่น่าเชื่อ! ภัยแล้งทำลำไยเมืองจันท์ยืนต้นตาย ส่งผลล้งเร่งกว้านซื้อใบข้ามปีหวั่นไม่มีขายจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - ไม่น่าเชื่อ! ภัยแล้งเมืองจันท์ทำสวนลำไย 2 พื้นที่ใหญ่ อ.สอยดาว-โป่งน้ำร้อน ยืนต้นตายแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ล้งรับซื้อลำไยกลับแห่จอง “ซื้อใบ” ข้ามปี เชื่อลำไยขาดตลาดปีนี้กระทบถึงปีหน้า จำต้องกว้านซื้อไว้ก่อนหวั่นไม่มีส่งขายจีน

วันนี้ (16 มี.ค. ) นายวินนา ศรีสงคราม ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคตะวันออกและอีสานใต้ ประธานกลุ่มชาวสวนลำไย ต.ทับช้าง อ.สอยดาว จ.จันทบุรี พร้อมด้วย นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา เลขานุการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ ได้นำคณะเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพภัยแล้งใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
 
หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนลำไยใน 2 พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำหล่อเลี้ยงลำต้นอย่างหนักจนไม่สามารถฟื้นฟูลำต้นกลับมาให้ดอกออกผลได้ และเกษตรกรชาวสวนจำใจต้องโค่นต้นทิ้ง ทั้งที่ผ่านมา เคยสร้างมูลค่าจากการส่งออกไปจีนได้มากเกือบ 1 หมื่นล้านบาท
 
นายวินนา เผยว่า เนื่องจาก จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกผลไม้มากที่สุดในประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้นจึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการปล่อยให้ลำไยยืนต้นตาย ซึ่งจากนี้ไปชาวสวนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี จึงจะสามารถปลูกตนใหม่ทดแทนจนสามารถให้ผลผลิตได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แต่อย่างไรก็ดี แม้จะมีข่าวร้ายจากปัญหาภัยแล้งแต่ก็ยังมีข่าวดีที่ขณะนี้ได้มีล้งรับซื้อผลไม้จำนวนมากเข้ามากว้านซื้อลำไยใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ซึ่งเป็นการทำสัญญาขอซื้อลำไยล่วงหน้า หรือที่เรียกกันในภาษาชาวสวนว่า “ซื้อใบ” ในราคาที่สูงถึงกิโลกรัมละ 40 บาท
 
ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้ประกอบการล้งรับซื้อผลไม้ต่างพากันประเมินสถานการณ์แล้วจนมั่นใจว่า ในปีหน้าลำไยจาก จ.จันทบุรี จะขาดตลาดและไม่พอส่งขายไปยังประเทศจีนอย่างแน่นอน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ในปีนี้ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตามความต้องการ จึงเร่งระดมหาซื้อลำไยให้ได้มากที่สุดก่อนเปิดตลาดรับซื้อในปีหน้า โดยจะเลือกทำสัญญาซื้อเฉพาะสวนลำไยที่มีน้ำทำสวนเท่านั้น เพื่อป้องกันความผิดพลาด
 
“ในสถานการณ์เช่นนี้อยากเสนอวิธีแก้ปัญหาความแห้งแล้งใน จ.จันทบุรี ให้แก่รัฐบาลด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการขุดสระพร้อมกับเจาะบ่อบาดาลให้แก่ชาวบ้าน ในลักษณะที่มีความลึกอย่างน้อย 80 เมตร ห่างกันจุดละ 500 เมตรในทุกๆ สวนผลไม้ พร้อมกับติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ 6 แผ่นเพื่อติดตั้งปั๊มน้ำหรือปั๊มซับเมอร์ส ขนาด 1.5 แรงม้า จะทำให้เมื่อถึงฤดูฝนที่มีน้ำเต็มสระก็จะมีน้ำเก็บไว้ใต้ดิน และสามารถปั๊มน้ำขึ้นมาใช้ได้ในช่วงหน้าแล้ง” ประธานกลุ่มชาวสวนลำไย อ.สอยดาว จ.จันทบุรี กล่าว
 
ด้าน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล สมาชิกวุฒิสภา เลขานุการคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เผยภายหลังรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ว่า หลังได้รับข้อเสนอในการขุดสระ รวมทั้งสร้างบ่อบาดาลเพื่อเก็บน้ำใต้ดิน ภายใต้งบประมาณเพียง 1.5 แสนบาทต่อจุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในช่วงหน้าแล้งของเกษตรกร ก็ยินดีที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

 
เช่นเดียวกับแนวคิดในการทำเขื่อนใต้ดินก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการการเกษตรและสหกรณ์ประจำวุฒิสภา ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น