สุรินทร์ - “ลำห้วยทับทัน” สายน้ำหลักหล่อเลี้ยงชาวสุรินทร์และศรีสะเกษ แห้งหนักวิกฤตสุดในรอบ 50 ปี แพกิจการท่องเที่ยวของชุมชนจอดเกยตื้น เหตุแล้งและชาวบ้านสองฝั่งลำน้ำทั้ง 2 จังหวัดต่างเร่งสูบน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จี้รัฐร่วม ปชช.หาทางแก้ไข หวั่น 2 จังหวัดเปิดศึกชิงน้ำ
วันนี้ (9 มี.ค.) นายสิทธิพร โพธิ์ชัย อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 31 ม.4 ต.ยาสว่าง อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นหนึ่งใน คณะกรรมการจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตนในฐานะกรรมการได้ติดตามสภาพปัญหาของระดับน้ำในลำห้วยทับทันมาตลอด จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำในลำห้วยแห้ง ถือว่าวิกฤตหนักสุดในรอบ 50 ปี พื้นน้ำลำห้วยหลายแห่งพบเห็นสันทรายตลอดแนว กิจการแพท่องเที่ยวที่เกิดจากการรวมกลุ่มของชุมชน ซึ่งมีจำนวน 2 กิจการ ต้องหยุดชะงัก
สาเหตุน้ำลำห้วยทับทันตื้นเขินเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกน้อย และจากการที่สองจังหวัดทั้งฝั่งของจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษได้ทำการสูบน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านที่ทำนาปรังขาดแคลนน้ำไปเลี้ยงต้นข้าวอย่างหนัก ซึ่งตนเห็นว่าหากไม่ร่วมกันแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้อาจจะเกิดปัญหาใหญ่เกิดศึกแย่งชิงน้ำของคน 2 จังหวัด จนนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตได้ จึงควรมีการจัดเวทีประชาคมของหน่วยงานรัฐและประชาชนจาก 2 จังหวัดเพื่อร่วมกันหาแนวทางออกและแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
นางทองฮัก เพ็งพินิจ อายุ 69 ปี บ้านเลขที่ 25 ม.6 บ้านยางเตี้ย ต.ยางสว่าง กล่าวว่า วันนี้ตนจ้างชาวบ้านมาเจาะน้ำบาดาลที่ทุ่งนา พร้อมซื้อเครื่องสูบน้ำมาใหม่ ลงทุนไปทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นบาท หวังได้น้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวนาปรังที่ปลูกไว้ประมาณ 4 ไร่ ซึ่งมีเกษตรกรหลายรายเร่งเจาะบาดาลเช่นกัน แต่บางรายยอมตัดต้นข้าวไปให้วัวควาย หรือปล่อยให้ต้นข้าวยืนตายไปเอง
ขณะที่ นายสมพงษ์ เรื่องสัตย์ อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 4 ม.9 บ้านหนองบัว ต.เบิด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนเป็นหัวหน้าสถานีสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้าจากลำห้วยทับทัน บริเวณบ้านหนองบัว ต.เบิด อ.รัตนบุรี มีหน้าที่คอยเปิดน้ำส่งให้ประชาชนที่ทำนาปรังประมาณ 1,174 ไร่ หลายรายเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว แต่คาดว่าจะได้ผลประมาณ 60% เพราะหลายคนปล่อยต้นข้าวทิ้งให้แห้งตายไปแล้วเพราะลำห้วยน้ำแห้งขอด ตนเห็นว่าควรมีการปรับปรุงสร้างฝายน้ำล้นบริเวณฝายอาจารย์หมาน พื้นที่ ต.ยางสว่าง อ.รัตนบุรี กับ ต.อีเซ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ ให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้เพียงพอตลอดปี
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าวิตกคือ พบว่าชาวบ้านจากตำบลตาโกน อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ มีการทำประมงใช้ไม้กั้นขวางลำห้วย อาจทำให้ระบบการไหลของน้ำไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ยิ่งกว่านั้นยังทำให้พื้นผิวบริเวณที่กั้น กลายเป็นที่ทับถมของกองทรายที่ไหลมารวมกัน เป็นปัญหาต่อการไหลของกระแสน้ำอย่างมาก อยากวิงวอนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้ความสนใจและร่วมสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนสองฟากฝั่งลำห้วยทับทัน ด้วย เพราะเท่าที่พบการทำประมงกั้นลำห้วยลักษณะนี้มีมากกว่า 10 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวพบว่าในสถานการณ์น้ำลำห้วยทับทันแห้งขอดที่รุนแรงในรอบ 50 ปีนี้ ในบางพื้นที่ บางอำเภอชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการใช้น้ำอย่างประหยัดเป็นอย่างดี โดยบางพื้นที่มีการสร้างฝายน้ำล้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่ของตนด้วย