xs
xsm
sm
md
lg

ทึ่ง! ชาวชุมแพตั้งกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดคุณภาพส่งออก สร้างรายได้ให้ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ฅนค้นแมลง” ที่ ต.โนนหัน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ประสบผลสำเร็จเลี้ยงจิ้งหรีด ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ทึ่ง! กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ฅนค้นแมลง” เผยเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ประสบผลสำเร็จเลี้ยงจิ้งหรีดมาตรฐานส่งออก ทั้งสปป.ลาว กัมพูชา และเตรียมส่งออกอิตาลี สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นรูปธรรม วอนรัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง


จิ้งหรีดทอด เมนูยอดฮิตที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูง ปัจจุบันเริ่มมีการเลี้ยงจิ้งหรีดกันอย่างแพร่หลาย แต่ที่ประสบผลสำเร็จสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม มีกลุ่มชาวบ้านผู้เลี้ยงจิ้งหรีดที่บ้านโนนหัน ต.โนนหัน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ได้รวมกลุ่มกันขึ้น ภายใต้ชื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ฅนค้นแมลง” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงจิ้งหรีดส่งขายในหลายช่องทาง รวมถึงตลาดส่งออก

นางสาวรุจิรา ล่านสกุล อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52/1 หมู่ 2 ต.โนนหัน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ผู้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฅนค้นแมลง เปิดเผยว่า ตนและสามีได้ลองผิดลองถูกเลี้ยงจิ้งหรีด ก่อนจะประสบความสำเร็จและก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีความคิดว่าอยากจะเลี้ยงจิ้งหรีดแบบไม่เหมือนใครและพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าได้อย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาล้มเหลวหลายครั้งกว่าจะประสบความสำเร็จ ใช้เวลากว่า 1 ปีศึกษาเรียนรู้จนประสบความสำเร็จ

ลองตัดสินใจเลี้ยงแบบฟาร์มปิด ซึ่งได้ผลดีกว่าฟาร์มเปิด สามารถควบคุมคุณภาพจิ้งหรีด จนปัจจุบันได้ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีสมาชิก 15 คน มีโรงเรือนเลี้ยงทั้งหมด 7 โรงเรือน สมาชิกทุกคนไม่มีค่าแรง ค่าจ้าง เมื่อมีงานในกลุ่มจะช่วยกันทำ จับขายนำเงินมาแบ่งกันใช้ ซึ่งตลาดปัจจุบันกลุ่มได้ส่งออกไปยังต่างประเทศ คือ สปป.ลาว และกัมพูชา และในอนาคตกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฅนค้นแมลง ยังได้ติดต่อกับลูกค้าที่ประเทศอิตาลีเพื่อส่งจิ้งหรีดตำบลโนนหันออกไปขายอีกด้วย




นอกจากนี้ กลุ่มยังวางแผนแปรรูปจิ้งหรีดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ดึงกลุ่มลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศให้หันมาสนใจรับประทานผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากจิ้งหรีดมากขึ้นด้วย โดยโรงเรือน 1 โรง ถ้าเลี้ยง 50 กล่อง จะเก็บจิ้งหรีดขายสร้างรายได้อยู่ที่ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้จากการจับขายจะหักเข้ากองกลางกลุ่มฯ 2% ภายในระยะเวลา 32 วันจะจับขายได้เดือนละ 1 ครั้ง เฉลี่ย 1 กล่องสามารถเก็บจิ้งหรีดได้ 30 กิโลกรัม สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกเป็นอย่างดี

ขณะนี้กลุ่มได้กู้เงินสนับสนุนจาก ธ.ก.ส.นำมาลงทุนก่อสร้างฟาร์ม ดิ้นรนต่อสู้จนนำกลุ่มประสบความสำเร็จ ตนอยากให้ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง หาตลาดรับซื้อ แหล่งเงินทุน เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้มีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนในพื้นที่ของตนเอง







สำหรับผู้สนใจหรือกลุ่มวิสาหกิจแห่งใดสนใจเลี้ยงจิ้งหรีดแบบฟาร์มปิดเหมือนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฅนค้นแมลง สามารถติดต่อเข้ามาขอดูงานได้ ตนพร้อมยินดีเป็นที่ปรึกษา พร้อมให้คำแนะนำเทคนิคการเลี้ยงอย่างไรให้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น