ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เดินหน้าวิจัยคุณภาพอากาศ ใช้เครื่องมือวิจัยสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศเก็บข้อมูลวิเคราะห์หาต้นเหตุฝุ่น PM 2.5 พบสาเหตุไม่ได้มาจากการเผาในที่โล่งเพียงอย่างเดียว
นางวนิสา สุรพิพิธ นักวิจัยชำนาญการ หนึ่งในทีมวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า มีงานวิจัยนานาชาติว่าการเกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ PM 2.5 นั้น ไม่ได้มาจากการเผาในที่โล่งหรือยานพาหนะเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในการเกษตร รวมไปถึงกลไกการปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนบางประเภทจากพืชที่จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ โดยมีแสงอาทิตย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เกิดเป็นอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5
ทั้งนี้ พบว่าในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนธันวาคมถึงมีนาคมจะมีสภาวะความกดอากาศสูง ทำให้ลมสงบ ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกพัดพาออกไปได้น้อย จึงสะสมในปริมาณหนาแน่นปกคลุมเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ และฝุ่นควันจะมีความหนาแน่นสูงมากในช่วงเช้า และค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น
ดังนั้นจึงได้นำเครื่องมือวิจัยและเก็บข้อมูลการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศ เรียกว่า ไลดาร์ นำมาเก็บข้อมูลชั้นบรรยากาศตั้งแต่ระดับพื้นดิน ขึ้นไปจนถึงระดับความสูง 20 กิโลเมตร สำหรับพยากรณ์คุณภาพอากาศ โดยนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องป้อนเข้าไปในแบบจำลอง เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและแหล่งกำเนิดที่แท้จริง ซึ่งจะสามารถบ่งชี้ระดับฝุ่นละอองลอยในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น สำหรับเครื่องไลดาร์นี้มีการติดตั้งไว้เพียง 2 จุด ในประเทศไทย ได้แก่ ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา