มหาสารคาม - ถูกห้ามทำนาปรัง ชาวนารวมกลุ่มเพาะเห็ดฟางขายรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท/ครอบครัว เผยวัสดุเพาะเห็ดหาง่ายในท้องถิ่น ทั้งขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถเก็บขายได้ 3 รอบใน 1 เดือน มีพ่อค้าคนกลางรับซื้อถึงแปลงเพาะ
ชาวบ้านหนองคู ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม รวมกลุ่มกัน 12 ครัวเรือนเพาะเห็ดฟางจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวทดแทนการทำนาปรัง หลังรัฐบาลประกาศขอความร่วมมือให้งดทำนาปรัง โดยการเพาะเห็ดฟางขายนั้นสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวเดือนละ 4,000-5,000 บาท มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงที่ไม่ต้องเดินทางไปขายเอง ทุกวันนี้เพาะเห็ดได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
นางคำตัน หัสจรรย์ อยู่บ้านเลขที่ 16 บ้านหนองคู ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เล่าว่า หลังจากรัฐบาลขอความร่วมมืองดทำนาปรังเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งเมื่อปี 2561 ชาวบ้านที่เคยทำนาปรังก็หันมารวมกลุ่มกันเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยบนที่นาของตนเอง ปีนี้เพาะเห็ดฟางเป็นปีที่ 2 โดยได้เรียนรู้จากเจ้าหน้าที่เกษตร ส่วนวัสดุการเพาะก็หาง่าย ใช้เพียงกากมันสำประหลัง กากน้ำตาล ปุ๋ยคอก เชื้อเห็ด แป้งข้าวเหนียว และฟางข้าว
โดยมีวัสดุหลักคือ กากมัน ซื้อมาจาก จ.กาฬสินธุ์ ตันละ 300 บาท ส่วนราคาจำหน่ายดอกเห็ดฟางหน้าฟาร์มจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 45 บาท 1 เดือนจะทำได้ 3 รอบ เมื่อนำมาหารเฉลี่ยรายได้เมื่อหักค่าวัตถุดิบจะอยู่ที่เดือนละ 4,000-5,000 บาท ถือเป็นรายได้เสริมนำไปใช้จ่ายในครอบครัว หากเทียบกับการทำนาปรังแล้ว การเพาะเห็ดฟางจะดีกว่าเพราะขั้นตอนไม่ยุ่งยาก
ส่วนวิธีการเพาะเห็ดฟางในนา หรือเห็ดฟางกองเตี้ยมีขั้นตอนง่ายๆ วัสดุหลักที่ใช้เพาะ ได้แก่ กากมันสำปะหลังจากโรงงานแป้งมันเส้น ปุ๋ยคอก แป้งข้าวเหนียว กากน้ำตาล อัตราส่วนกากเปลือกมันสำปะหลัง 1 ตันต่อวัสดุชนิดอื่นๆ อย่างละ 1 กิโลกรัม จากนั้นปรับพื้นที่ให้เรียบ นำกากมันสำปะหลังผสมกับปุ๋ยคอก กากน้ำตาล แล้วนำไปเทลงในแบบพิมพ์ที่ทำไว้ ขนาดเท่าอิฐบล็อก 2 ก้อน ทำเรียงกันประมาณ 15 แถว แล้วรดน้ำ
จากนั้นก็ขยำก้อนเชื้อเห็ดฟางแล้วนำไปโรยในแปลง ขึ้นโครงไผ่ ใช้ผ้ายางพลาสติกใสคลุม ใช้ฟางข้าวปิดทับกันแสงเข้า วันที่สี่ ช่วงเย็นให้เปิดพลาสติกที่คลุมออกเพื่อให้อากาศเข้าไปกระตุ้นเส้นใย ใช้เวลาเปิดรับอากาศประมาณ 30 นาที วันที่เจ็ด เห็ดฟางจะเริ่มเกิดดอกเล็กๆ ทิ้งไว้ 3 วันก็สามารถเก็บดอกจำหน่ายได้
ขณะที่ปัญหาการเพาะเห็ดฟางมีเพียงสภาพอากาศที่ต้องควบคุมไม่ให้ร้อนจนเกินไป และเย็นจนเกินไป ช่วงเส้นใยเดินให้รักษาอุณหภูมิอยู่ที่ 32-38 องศาเซลเซียส ความชื้น 80% เมื่อออกดอกแล้วให้รักษาอุณหภูมิอยู่ที่ 28-32 องศาเซลเซียส เห็ดจะงอกดี