xs
xsm
sm
md
lg

คพ.นำร่องบังคับใช้มาตรฐานคุมกลิ่นโรงงานยางพื้นที่อุดรฯ แห่งแรกของไทย 16 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - คพ.เปิดเวทีแจงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานผลิตยางให้ชาวชุมชนและนายทุนโรงงานยางเข้าใจกก่อนบังคับใช้ 16 เม.ย. 63 นี้ เผยนำร่องใช้ควบคุมตรวจสอบมาตรฐานโรงงานยางในอุดรฯ เป็นแห่งแรกของประเทศ เชื่อช่วยแก้ปัญหากลิ่นได้ตั้งแต่ต้นทาง

วันนี้ (19 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 6 โรงแรมประจักษ์ตรา ดีไซน์ เทศบาลนครอุดรธานี พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธราดา ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมปฏิบัติการ “แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐานควบคุมค่าความเข้มกลิ่นจากโรงงานผลิตยาง” เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเตรียมพร้อมบังคับใช้ “ค่ามาตรฐานความเข้มกลิ่นจากโรงงานผลิตยาง” ในวันที่ 16 เมษายน 2563

โดยมีนายวิรุฬห์ ฤกษ์ธนะขจร ผอ.สนง.สิ่งแวดล้อม ภาค 9 นำนายสายัณห์ หมีแก้ว ผอ.ส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 และผู้แทนกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจแก่ตัวแทนประชาชนอาศัยรอบโรงงานยาง 5 แห่งในพื้นที่ จ.อุดรธานี ประกอบด้วย บ.ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จก.(มหาชน), บ.วงษ์บัณฑิต จก., บ.ไทยฮั้วการยาง จก., บ.ซินิไทยรับเบอร์ จก. และโรงงานยาง 5 การยางแห่งประเทศไทย

ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษชี้แจงว่า ปัญหากลิ่นโรงยางเกิดขึ้นทั่วประเทศ “หนองนาคำโมเดล” เป็นตัวอย่างการแก้ปัญหา เมื่อชาว ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี ออกมาเรียกร้องและเก็บข้อมูล แม้ว่าโรงงานจะพยายามปรับปรุงแก้ไข ทั้งน้ำเซรัมรั่วไหลระหว่างขนส่ง, การบำบัดน้ำเซรัมและน้ำเสีย, กองยางก้อนถ้วยกลางแจ้ง และการกำจัดกลิ่นจากกระบวนการอบยางก็ทำได้เพียงลดความรุนแรงและความถี่ลงบ้าง

ในครั้งนี้จะได้นำประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นโรงงานผลิตยาง ได้กำหนดให้ตรวจวัดค่าความเข้มข้นกลิ่น โดยการวิเคราะห์กลิ่นด้วยการดม จากกลิ่นจากปล่องโรงงานไม่เกิน 2,500 หน่วย และกลิ่นริมรั้วโรงงานไม่เกิน 30 หน่วย ใช้บังคับกับโรงงานยางทั่วประเทศซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม และ พ.ร.บ.สาธารณสุข เหตุเดือดร้อนรำคาญ


ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษชี้แจงอีกว่า การตรวจเก็บกลิ่นจะทำแบบเปิดเผย ประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วม นำสู่การฝึกปฏิบัติกับเครื่องจริง ประกอบไปด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบ ความเร็วและทิศทางลม ก่อนทำการเก็บตัวอย่างอากาศ ด้วยการปั๊มอากาศเข้าไปเก็บในถุงพลาสติกเก็บตัวอย่าง ตลอดจนวิธีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเข้ารับการตรวจพิสูจน์ในส่วนกลาง ตลอดจนการบันทึกข้อมูล

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสอบถามข้อสงสัย ข้อเสนอแนะ และแสดงความคิดเห็น ที่สอดคล้องกันทั้ง 5 โรงงาน คือ ความรุนแรงของกลิ่นจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวทุกปี การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา แม้โรงงานใช้เงินลงทุนสูงแก้ไขก็ยังจัดการกลิ่นไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ ต.หนองนาคำ มีกลิ่นเหม็นรุนแรงระดับ 5 ทำให้แกนนำประกาศขายบ้านแม้จะรู้ว่าไม่มีคนซื้อก็ตาม และก็มีความหวังกับค่ามาตรฐานกลิ่น

พ.ต.ท.ชินโชติ พุฒิวรรธธราดา ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เข้ามาติดตามแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชน และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ ที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องกฎหมาย และงานวิชาการ ทำให้ช่วงต้นๆ เราทำได้เพียงการขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ด้วยการทำบันทึกข้อตกลง เช่น การติดตั้งถังเก็บน้ำเซรัมในรถบรรทุกไม่ให้รั่วไหลลงถนนส่งกลิ่นเหม็น และเป็นสาเหตุถนนลื่นเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจังหวัดดำเนินการไปก่อนแล้ว การที่นักวิชาการชี้ว่ายางก้อนถ้วย+น้ำ+จุลินทรีย์ จะทำให้โปรตีนในยางเน่าและเหม็น ก็ได้ทำข้อตกลงรับซื้อยางก้อนถ้วยความชื้นต่ำ หรือซื้อยางเครฟแทน และจากปัญหาโรงงานยาง ไม่เคยมีค่ามาตรฐานกลิ่นมาก่อน การใช้อำนาจทางปกครองจะเกิดการฟ้องร้องหน่วยงานได้ จึงยกร่างค่ามาตรฐานกลิ่นขึ้นมา ซึ่งค่ามาตรฐานนี้เป็นความเห็นทางวิชาการ การนำมาปฏิบัติใช้จริงกำลังจะเกิด จึงต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และค่าอาจจะปรับลดหรือสูงขึ้นได้

ผู้ตรวจราชการพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ค่ามาตรฐานกลิ่นโรงงานยางถือเป็นเครื่องมือสำคัญบอกว่าโรงงานไหนกลิ่นเหม็นเกิน และจะต้องปรับปรุงแก้ไข หยุด หรือปิด จะมีขั้นตอนการตรวจติดตามชัดเจน ก่อนที่จะดำเนินการจึงมาทำความเข้าใจกับทั้งโรงงานยางและประชาชน เริ่มในพื้นที่อุดรธานีเป็นแห่งแรก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพัฒนาจากการดมกลิ่นเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย และงานวิจัยเพื่อช่วยจัดการกลิ่นตั้งแต่ต้นทาง


กำลังโหลดความคิดเห็น