xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอุดรฯ ร้องศาลปกครองสูงสุดระงับออกประทานบัตรเหมืองโปแตซ รอบ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวอุดรฯ ร้องศาลปกครองสูงสุด ระงับออกประทานบัตรเหมืองโปแตซ รอบ 2 ชี้ลักไก่เอาข้อมูลเก่าที่ศาลปกครองอุดรฯ เพิกถอนเหตุกระบวนการไม่ชอบด้วย กม.มายื่นขอจังหวัดเร่งรัดออกใบอนุญาต เข้าข่ายผิดกฎหมาย

วันนี้ (18 ก.พ.) นางมณี บุญรอด กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้าน อ.เมืองฯ และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี พร้อมด้วยนายวีรวัฒน์ อบโอ ทนายความ เข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจ.อุดรธานี กำนัน ต.นาม่วง กำนัน ต.หนองขอนกว้าง กำนัน ต.โนนสูง กำนัน ต.หนองไผ่ นายกเทศมนตรี ต.โนนสูง และ กำนัน ต.ห้วยสามพาด ชะลอการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของบริษัทเอเชีย แปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด เรื่องกำหนดขั้นตอนระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ส่วนที่ 3 การทำเหมืองใต้ดินไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา


โดยนางมณีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2536 ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ได้ลงไปสำรวจพี้นที่ใน จ.อุดรธานี อ้างว่าเพื่อหาบ่อน้ำมัน จนปี 40 ชาวบ้านถึงเพิ่งทราบจากเอ็นจีโอที่ลงพื้นที่ว่าทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯสำรวจเพื่อจะเปิดให้มีการทำเหมืองโปแตซ ทั้งจังหวัดกินพื้นที่ 7 หมื่นไร่ โดยในส่วน 2 อำเภอ 5 ตำบลที่มายื่นฟ้องครั้งนี่เป็นพื้นที่ 2.6 หมื่นไร่ ที่ชาวบ้านมีการต่อสู้มาตลอดหลาย 10 ปี มีการฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานีจนศาลมีคำพิพากษาเมื่อปี 30 มี.ค. 61 ว่า กระบวนการจัดทำรายงานการไต่สวนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯกับพวกไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 และให้กระบวนการขอใบอนุญาตเป็นไปตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 โครงการจึงถูกระงับไว้ แต่บริษัทเอเชีย แปซิฟิก ก็พยายามที่จะดำเนินการโครงการโดยมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียใหม่แต่ทำให้ค่ายทหาร และล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ก็มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 16 ธ.ค. 62 เมื่อชาวบ้านมีหนังสือสอบถามถึงผลการประชุมกลับได้รับคำตอบว่า ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น การสำรวจรังวัด ปักหมุดใหม่ ตามที่ศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำพิพากษาทางบริษัทได้มีการดำเนินการใหม่ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนตั้งคณะกรรมการพิจารณาออกประทานบัตรให้กับบริษัท จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองอุดรธานี จึงต้องมาร้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครองสูงสุด

“ตอนนี้เหมืองยังไม่มีการทำ แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบแล้วเพราะแบ่งเป็น 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายหนุนทำเหมือง ฝ่ายคัดค้าน และฝ่ายเป็นกลาง แตกแยกกันถึงขนาดไม่ทำบุญร่วมกัน ไม่เผาผีกัน แล้วถ้ามีการทำเหมืองจริงจะเกิดปัญหาขนาดไหน ที่ผ่านมามีผู้ว่าราชการจังหวัดมา 10 กว่าคน ไม่มีใครกล้า แต่ผู้ว่าฯคนใหม่ เพิ่งจะมารับตำแหน่งกลับเร่งรัดเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะออกประทานบัตร โดยที่กีดกันไม่ให้ชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุม เมื่อสอบถามก็ไม่ให้ข้อมูล”

ด้านนายวีรวัฒน์กล่าวว่า ตามคำพิพากษาศาลปกครองอุดรธานีถ้าบริษัทฯจะดำเนินการโครงการต่อ ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่หมด ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ที่กำหนดว่าต้องจัดทำรายละเอียดลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ที่จะขอประทานบัตร โดยพื้นที่ดังกล่าวจะต้องไม่เป็นพื้นที่ด้านความมั่นคง พื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านโบราณสถาน ซึ่งต่างกับ พ.ร.บ.แร่ 2510 ที่ไม่มีการกำหนดไว้ นอกจากนี้ในกระบวนการรับฟังความเห็นตามกฎหมายต้องรับฟังในพื้นที่ๆ ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ไปรับฟังในค่ายทหาร ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่เกินกว่า 10 กม.ที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นว่าการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลเก่าที่มีการทำตาม พ.ร.บ.แร่ 2510 มาเป็นหลักฐานในการพิจารณาจะอนุญาตออกประทานบัตรเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง










กำลังโหลดความคิดเห็น