xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านยังสับสน สร้างไม่สร้างสนามบินนครปฐม หวั่นเสียพื้นที่เกษตรกว่า 3.5 พันไร่ ผลกระทบอีกมหาศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครปฐม - ชาวบ้านนครปฐม ยังตั้งตารอผลสรุปการก่อสร้างสนามบินนครปฐม แม้ล่าสุด กรรมาธิการฯวุฒิสภาได้ส่งหนังสือให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา แต่ไม่มีใครสรุปได้ว่าจะเกิดสนามบินหรือไม่ หากรัฐยังดึงดันสร้าง เราต้องสูญเสียพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไปมากกว่า 3.5 พันไร่แน่นอน



ชาวบ้านในเขตอำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี หลายตำบลยังคงรวมตัวกันแสดงเจตนาชัดเจนเกี่ยวกับการคัดค้านโครงการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ท่ามกลางความสับสน หลังจากมีกระแสข่าวว่า กรมการท่าอากาศยาน ไม่เปลี่ยนใจยืนยันใช้พื้นที่เดิม “บางเลน-นครชัยศรี” สร้างสนามบินนครปฐม ในขณะเดียวกัน ทางกลุ่มชาวบ้านเองก็รวมตัวออกมาคักค้านกันสุดตัว พร้อมให้เหตุผล ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากยังเดินหน้าก่อสร้างสนามบินนครปฐมต่อไป

โดย นางพิมนิภา รักอุดมการณ์ อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24 ม.8 ต.บางระกำ อ.บางเลน กล่าวว่า ตนเองมีที่ทำนำ 12 ไร่ 2 งาน โดยแซมการปลูกไม้ดอก ซึ่งตอนแรกไม่รู้ว่าสถานที่ก่อสร้างจะมาตรงกับบ้านตัวเอง โดยเมื่อปลายปี 61 ได้เห็นมีคนมาสำรวจพื้นที่แต่ไม่รู้ว่ามาทำอะไรกัน จนมีการเอากล้องมาตั้งวัดสำรวจชาวบ้านก็ยิ่งสงสัย จึงได้มีการออกไปหาข่าวหาข้อมูลกันเอง โดยมีการเรียกชาวบ้านไปประชุมครั้งแรกที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครปฐม และมาที่อำเภอบางเลน ก็มีการเรียกประชุมอีก จนแน่ชัดว่าที่ดินของเรากว่า 3.5 พันไร่ จะถูกนำไปก่อสร้างสนามบิน

ในการประชุมบอกว่าทคะแนนของการสำรวจในแปลงที่ 2 คือ พื้นที่เราได้รับการโหวตให้ได้รับคะแนนสูงสุดในการก่อสร้าง ซึ่งได้ถามไปว่ามีที่ใดบ้าง และเอาคะแนนจากส่วนใดมาตัดสินก็ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้ร่วมให้คะแนนด้วย ซึ่งประชาชนนั้นมีส่วนร่วมแต่ประชาชนไม่ได้ออกเสียงเลย วันนี้ท้อเพราะเราไม่รู้ต่อสู้กับใคร แต่เหตุผลที่ค้านคิดว่าเรามีเหตุผลพอสมควรแต่เขาจะฟังเราหรือไม่

ด้าน นางสำอาง เกิดโพชา อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 53/2 ม.14 ต.บางระกำ อ.บางเลน บอกทั้งน้ำตาว่า ที่ผ่านมา ที่บ้านทำนา สวนต้นไทร และสวนผลไม้ โดยสวนต้นไทรตอนนี้มียอดจำหน่ายออกต่างประเทศเดือนละ 4-5 แสนบาท เพราะทางต่างประเทศต้องการมาก ซึ่งจะให้ย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่นนั้นจะให้ไปทำอะไร เราทำนาทำสวนมาตั้งแต่ยุคปู่ย่าตายาย โดยโฉนดที่ดินยังเก็บไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระราชทานไว้

“ทุกวันนี้เครียดมากเพราะพื้นที่ที่นี่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดนครปฐม หรือจะว่าในประเทศก็ได้ เพราะได้มีน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาหล่อเลี้ยงทั้งปี สามารถทำนาได้ถึงปีละ 4 ครั้ง มีสวนผลไม้ ดอกไม้ และมีสินค้าเกษตรส่งออกไปได้มากมาย แต่กรมท่าอากาศยานคิดได้อย่างไรที่จะเอาอู่ข้าวอู่น้ำของจังหวัดนครปฐม ไปทำสนามบิน ไปเอาปูนมาแทนแหล่งเกษตร ตนเองจะขอต่อสู้เพื่อถิ่นที่อยู่ต่อไปแน่นอน ซึ่งมีคนเฒ่าคนแก่เครียดจนเสียชีวิตไปบางแล้วก็มี”

ขณะที่ นายคณฑี เอี่ยมสะอาด อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ต.บางระกำ อ.บางเลน กล่าวว่า วันนี้หลังจากเราได้เดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่จังหวัดนครปฐม ไปจนถึงรัฐบาล ล่าสุด ได้ไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการคมนาคมวุฒิสภา ซึ่งก็มีหนังสือตอบรับว่าได้รับพิจารณาเรื่องดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่ไม่รู้ว่าหนังสือที่ได้รับมานี้จะมีผลมากน้อยต่อคณะรัฐมนตรีที่จะเดินหน้าสร้างสนามบินหรือไม่ ขอให้สื่อลงไปดูพื้นที่ได้ว่าพื้นที่ 3.5 พันไร่ ที่จะก่อสร้างสนามบินทุกตารางนิ้วชาวบ้านได้ใช้ทำการเกษตรเต็มพื้นที่ เรามีความหลากหลายทางการเกษตร

และที่สำคัญพื้นที่แห่งนี้เคยได้รับการยกให้เป็นครัวโลก ที่จะส่งผลผลิตทางการเกษตรไปให้ทั้งประเทศและต่างประเทศ มันน่าเสียดายมากเพราะนอกจากพื้นที่ 3.5 พันไร่ที่จะมีผลกระทบโดยตรงโดยรอบที่จะมีการก่อสร้างอื่นๆ อีกนั้น จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคตอีกแน่นอน โดยผลที่น่าห่วงคือ การที่จะมีการถมดินเพื่อสร้างสนามบิน จะส่งผลทำให้พื้นที่แห่งนงนี้ซึ่งเป็นแก้มลิงที่รับน้ำจากกรุงเทพฯ จะไม่มีที่พักน้ำ ซึ่งเมื่อปี 54 นั้นพื้นที่บริเวณนี้รองรับน้ำ สามารถช่วยคนกรุงเทพฯ ได้หลายล้านคนมาแล้ว ถ้ามีอะไรมากั้นทางน้ำย่อมจะส่งผลกระทบแน่ๆ

โดยจะมีการปิดคลองย่อยอีก 4 คลองที่เข้าชุมชน ทำให้พื้นที่การเกษตรที่นี่เสียหายทั้งหมด จากเหตุและผลดังกล่าว ทางกระทรวงคมนาคมจะยืนยันก่อสร้างอีก ก็ถือว่าน่าเสียดายมาก และขอยืนยันว่า พวกเราจะต่อสู้ต่อไปหากยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจะเก็บผืนดินแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานมาทำการเกษตรกันในอนาคตต่อไป เพราะถ้าหมดที่นี่แล้วจะไปหาที่ดินที่สร้างความสมบูรณ์ได้จากที่ไหนได้อีก วันนี้รับว่าชาวบ้านยังสับสนกับเรื่องนี้อยากมาก นายคณฑี กล่าวปิดท้าย

ด้าน นางอำภา บุญขจร อายุ 67 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22/1 ม.8 ต.บางระกำ อ.บางเลน บอกว่า มีที่ดิน 40 กว่าไร่ ทำทั้งนา และปลูกไม้พะยูง ซึ่งบอกว่าเห็นหนังสือจากกรรมาธิการแล้วดีใจ เพราะเสียดายพื้นที่การเกษตร เพราะที่ดินที่ถูกเวนคืนคนที่ถูกเวนคืนก็จะย้ายไปแล้ว แต่คนที่อยู่โดยรอบจะอยู่อย่างไร เพราะน้ำจะมาท่วมรอบข้างอีกแน่นอน โดยชาวบ้านพยายามมาถามถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ การที่กรรมาธิการฯ ได้ออกหนังสือมาให้ก็ดีใจ เพราะที่ผ่านมา กินไม่ได้นอนไม่หลับ สนามบินยังสร้างมลพิษหลายเรื่องให้แก่การเกษตรด้วย ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำท่าจีนเราทำการเกษตรได้ทั้งปี วันนี้แม้จะชะลอไป 10 ปี ก็ยังได้หายใจคล่องคอเราไม่ได้คัดค้านแต่ขอให้ไปทบทวนที่เหมาะสมกว่านี้อย่าทำลายพื้นที่เกษตรที่สมบูรณ์เลยตรงนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงเพราะพวกเราไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านได้พาลงดูพื้นที่การทำนา สวนและไร่การเกษตร ที่เป็นจุดก่อสร้างสนามบิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ที่ได้รับการพิจารณาการก่อสร้างสนามบินนั้นเป็นพื้นที่การเกษตรทั้งหมด โดยยังเป็นการแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่จะต้องสูญเสียไปในอนาคต โดยทุกคนที่ได้รับผลกระทบต่างรอคอยคำตอบที่ชัดเจนท่ามกลางกระแสความสับสนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

โดยหลายรายยังยืนยันที่จะเก็บที่ดินเอาไว้แม้ว่าจะได้ราคามากเพียงใดก็ตาม และยังคงมีความสงสัยว่าพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอกำแพงแสน ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนการบินกำแพงแสน อยู่แล้วหากมีการขยายออกไปน่าจะเหมาะสมกว่าเพราะไม่ใช่พื้นที่น้ำท่วม โดยเป็นที่ดอนไม่เคยประสบปัญหา อีกทั้งพืชเกษตรก็ยังเป็นกลุ่มของอ้อย เป็นหลัก แต่ทำไมถึงไม่เลือกในการพิจารณาดังกล่าวเพื่อให้ชาวบ้านได้กระจ่างในเรื่องดังกล่าวด้วย


















กำลังโหลดความคิดเห็น