xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการห่วงพันธุ์ปลาน้ำโขงลดฮวบ แนะทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการจัดเผยแพร่รายงานทางวิชาการและเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อุบลราชธานี - นักวิชาการ 5 ประเทศศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำลุ่มน้ำโขงตอนล่างลดลง กระทบเศรษฐกิจฐานราก สาเหตุทั้งสภาพลำน้ำ ชุมชนที่เปลี่ยนแปลง จากการสร้างเขื่อน และภาวะโลกร้อน ระบุทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ปัญหาก่อนลุกลาม

วันนี้ (11 ก.พ. 63) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดร.ชัยวัฒน์ กรุดพันธ์ นักวิจัยด้านการประมงและลุ่มน้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมนักวิชาการด้านพันธุ์สัตว์น้ำตามลุ่มแม่น้ำโขงและลุ่มน้ำสาขา จัดเผยแพร่รายงานทางวิชาการและเสวนาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง


นักวิชาการพบว่าแม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่ 2 รองลงมาจากแม่น้ำอเมซอนของประเทศบราซิล แต่มีความหลากหลายด้านวงศ์ตระกูลของสัตว์น้ำมากกว่า ปัจจุบันจากการสำรวจพบพันธุ์สัตว์น้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างกว่า 800 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีวงศ์ตระกูลของสัตว์แตกออกไปอีกจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มปลาหนังและปลามีเกล็ด แต่การเปลี่ยนแปลงของลำน้ำทั้งจากภาวะโลกร้อน สร้างเขื่อน หรือการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชนของแม่น้ำโขงตอนล่าง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางอาหาร ซึ่งส่งผลไปถึงเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนตามลุ่มน้ำโขงตอนล่างด้วย

อาทิ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2562 แม่น้ำโขงเกิดการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้นลงกว่า 1 เมตรในเวลาอันรวดเร็ว และน้ำเกิดการเปลี่ยนสีจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ ทำให้ปลาหลงน้ำว่ายขึ้นมาให้จับเป็นจำนวนมาก แต่ปลาที่จับได้กลับไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจตามความเป็นจริง เพราะมีจำนวนมากเกินความจำเป็น แต่ปรากฏว่าในเวลาต่อมาปลาบางชนิดที่เคยมีถิ่นที่อยู่ในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาได้สูญหายไป พ่อค้าแม่ค้าต้องสั่งซื้อปลาจากแหล่งเลี้ยงในลุ่มน้ำเจ้าพระยามาชดเชย

เชื่อว่าในอนาคต หากไม่มีการวางแผนแก้ไขร่วมกันของประเทศตามลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ตามลุ่มน้ำโขงทั้งพม่า ลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา เพราะจะสูญเสียแหล่งอาหารที่เป็นทั้งโปรตีนให้แก่คนลุ่มน้ำ และมูลค่าทางเศรษฐกิจ แก่ชุมชนอย่างร้ายแรงต่อไป เพราะแม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่หล่อเลี้ยงคนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำมานานหลายพันหรือเป็นล้านปี ซึ่งยืนยันได้จากภาพเขียนสีที่เป็นรูปปลาบนอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำโขง


ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทุกชนิด เพราะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์น้ำและพันธุ์ปลาหลากชนิด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากตามชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ปลาแต่ละชนิดดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศที่พิเศษของแม่น้ำโขง ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ตามฤดูกาล

แต่ยุคปัจจุบันฤดูกาลเริ่มไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถูกแรงกดดันจากการพัฒนา ทำให้เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อชุมชนรวมไปถึงพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้จะเป็นตัวกำหนดการนำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ มีการนำมาใช้อย่างไร และเกิดประโยชน์อย่างไรต่อลุ่มน้ำ แล้วสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบทั้งในสังคมขนาดเล็กและนานาชาติในอนาคตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น