เชียงราย - ระบบนิเวศน้ำโขงทรุด-สาหร่ายสั้นลง-ต้นไคร้ตาย เกิดปรากฏการณ์น้ำโขงตอนบนใส-เขียวคราม..คนเฒ่าคนแก่บอกไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน “ครูตี๋-นักอนุรักษ์” เชื่อเหตุจากตะกอนถูกเขื่อนจีนกัก ทำแร่ธาตุ-สารอาหารในน้ำหาย
วันนี้ (10 ก.พ.) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาว ด้านเชียงรายตรงข้ามแขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว พบว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระบบนิเวศมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก
ที่ชัดเจนมากที่สุดคือ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 น้ำในแม่น้ำโขงมีลักษณะใส มองเห็นท้องน้ำอย่างชัดเจน และเมื่อมองจากที่สูงในตอนกลางวันจะเห็นเป็นสีเขียวคราม โดยผู้สูงอายุหลายราย อาทิ นายรุณ คนขับเรือโดยสารในแม่น้ำโขง วัย 86 ปี บอกตรงกับอีกหลายเสียงว่า เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำโขงใสขนาดนี้ และเพิ่งเกิดขึ้นที่ อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา
ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า น้ำโขงใส น่าจะมีสาเหตุจากตะกอนถูกกักเก็บในแม่น้ำโขงเขื่อนตอนบนในมณฑลยูนนานนับ 11 เขื่อนเป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี นอกจากนี้ ในฤดูฝนปีที่ผ่านมาระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่ได้เพิ่มสูงตามฤดูกาล จึงไม่มีน้ำท่วมหลากสองฝั่งตลิ่ง ลำน้ำสาขา และพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ตะกอนแร่ธาตุตามริมฝั่งไม่ได้ถูดพัดพาตามระบบธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังพบว่า ไก หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง มีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด จากปกติตามธรรมชาติแล้ว “ไก” จะเกิดตามหาดหินและเกาะแก่งในช่วงฤดูแล้ง เมื่อแม่น้ำโขงใสสะอาด ไกจะขึ้นเป็นเส้นยาว ในอดีตนั้นชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงทั้งฝั่งไทยและลาวต่างพากันมาเก็บไกนำไปขายสดและแปรรูป สร้างรายได้ในช่วง 3 เดือนของฤดูแล้ง แต่จากการสำรวจในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ไก ที่เกิดในแม่น้ำโขงมีลักษณะไม่สมบูรณ์ ออกเป็นกระจุกสั้นๆ ไม่ยาวเหมือนปีก่อนๆ
“จากการลงพื้นที่หาดหินในแม่น้ำโขง ได้พูดคุยกับคนเก็บไก ที่ขับเรือมาจากบ้านดอน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต่างก็พูดตรงกันว่า ปีนี้ไกมีลักษณะแปลกไปจากทุกปี นอกจากมีเส้นสั้นผิดจากธรรมชาติที่เคยเกิด ยังเป็นกระจุกแล้วยังมีสีสนิม ไม่สะอาด ถือว่าผิดปกติมากแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน คาดว่าเป็นเพราะไม่มีแร่ธาตุ อาหารของไกคือตะกอนที่พัดมาตามน้ำหลากและตกอยู่ตามแก่งหิน ตามท้องน้ำ และหาดหินต่างๆ เนื่องจากหน้าฝนปีที่ผ่านมากลับไม่มีน้ำหลากตามธรรมชาติ จึงอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไกไม่สมบูรณ์” นายนิวัฒน์กล่าว
ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่เขื่อนทางตอนบนในจีน และเขื่อนตอนล่างจะต้องใช้งานโดยคำนึงถึงระดับน้ำตามฤดูกาลของแม่น้ำโขง ต้องระบายน้ำให้เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งวงจรน้ำขึ้น-น้ำลงในรอบปีเป็นปัจจัยสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ที่เอื้อให้เกิดการหลากของตะกอนแร่ธาตุที่พัดไปกับแม่น้ำ เป็นอาหารของปลา เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาลต่อพืชพรรณต่างๆ รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ตลอดลุ่มน้ำลงไปถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เวียดนาม
นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นโฮงเฮียนแม่น้ำของ กล่าวว่า นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาเพียงปีเดียว ที่น่าเป็นห่วงคือ สิ่งนี้อาจจะซ้ำเติมผลกระทบต่อนิเวศและชุมชนริมสายน้ำโขงทางภาคอีสานที่อยู่ท้ายน้ำเขื่อนไชยะบุรี
จากการสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงล่าสุด พบว่าต้นไคร้หางนาค ที่เป็นพืชท้องถิ่นขึ้นอยู่บนแก่งหินตลอดสองฝั่งและบนเกาะกลางแม่น้ำโขง พบว่าต้นไคร้ตายเป็นจำนวนมาก ถือเป็นวิกฤตของต้นไคร้หางนาค ที่โดยปกติแล้วในฤดูแล้งเมื่อแม่น้ำโขงลดระดับจะผลิใบงอกงาม แต่ที่ตายกันมากในเวลานี้เนื่องจากความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งไคร้หางนาคนี้คืออาหารที่สำคัญของปลาแม่น้ำโขงที่อพยพมาในฤดูน้ำหลาก
ตัวแทนโฮงเฮียนแม่น้ำของกล่าวว่า ต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงมาจากหิมะละลายในเขตทิเบต เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย น้ำในแม่น้ำโขงตอนบนที่พรมแดนไทย-ลาว-พม่า สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะที่ต้นน้ำแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง แต่เมื่อมีเขื่อนขนาดใหญ่กว่า 11 เขื่อนสร้างกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ทำให้ท้ายน้ำเกิดผลกระทบอย่างชัดเจน
“แม่น้ำโขงในแถบนี้ ในปีนี้ เดือนนี้ เราพบว่าน้ำใสที่สุดในรอบชีวิตของคนลูกน้ำโขงที่เกิดมาพบเจอ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีรายงานว่าพบแม่น้ำโขงสีครามที่ภาคอีสาน ทางท้ายน้ำเขื่อนไชยะบุรี ตั้งแต่ปลายปี 2562 มาแล้ว”
อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (หรือที่รู้จักกันว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง) ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 และให้ความเห็นชอบการยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง
แต่อย่างไรก็ตาม เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงมีความเห็นว่าภัยคุกคามต่อแม่น้ำโขงยังคงต้องรีบแก้ไข โดยเฉพาะผลกระทบจากเขื่อนทั้งในจีน และในลาว เช่น เขื่อนไชยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559-2562) มีการฟื้นโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงอีกครั้ง โดยให้บริษัทที่ปรึกษาจากจีนเข้ามาทำการสำรวจและออกแบบตลอดลำน้ำบริเวณพรมแดนนั้น กลุ่มอนุรักษ์และเครือข่ายชุมชนใน จ.เชียงรายได้พบและให้ข้อมูลแก่หลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหน่วยงานรัฐต่างๆ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งพบว่าการรับฟังต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความมั่นคง จนนำไปสู่การเสนอให้ ครม.มีมติยุติโครงการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา