xs
xsm
sm
md
lg

วอนช่วย! ชาวลาหู่เมืองพ่อขุนได้ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ของรัฐเพียง 2 ปีพัง ต้องกลับไปใช้เทียนทั้งหมู่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - หมู่บ้านจะต๋อเบอ ถิ่นอาศัยของชาวลาหู่อยู่อาศัยกว่า 300 คน 70 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนหนัก หลังแผงโซลาร์เซลล์ที่รัฐติดตั้งให้แต่ไร้การบำรุงรักษาเกิดสภาพทรุดโทรมและเสียไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายเดือนแต่เรื่องเงียบ


ที่หมู่บ้านจะต๋อเบอ หมู่ 18 ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวลาหู่ที่ตั้งอยู่ในเขตป่าเขาห่างไกลจากหมู่บ้านรวมมิตรซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของ จ.เชียงราย ลึกเข้าไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร กำลังประสบปัญหาไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ก็ไม่สามารถใช้การได้เช่นกัน ทำให้ชาวบ้านต้องใช้การจุดไฟเพื่อให้เกิดความร้อน และในยามค่ำคืนก็ใช้การจุดเทียนเพื่อให้เกิดแสงสว่างแทน หลังจากก่อนหน้านี้เคยใช้กระแสไฟฟ้าจากเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือจากแผงโซลาร์เซลล์มาได้ระยะหนึ่ง


นายยุทธพงษ์ เมธาอธิวัฒน์ อายุ 34 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจะต๋อเบอ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบ้านเรือนในหมู่บ้านรวมจำนวน 70 หลังคาเรือน และมีประชากรรวมกันประมาณ 300 กว่าคน หรือประมาณ 70 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมด้วยการปลูกข้าวโพด สับปะรด และข้าว โดยก่อตั้งเป็นหมู่บ้านมาได้นานกว่า 70-80 ปีแล้ว ปรากฏว่าเนื่องจากสภาพพื้นที่ทำให้ไม่มีการต่อระบบกระแสไฟฟ้าเข้าไปยังหมู่บ้านได้ส่งผลทำให้ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก กระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนได้มีหน่วยงานราชการเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ให้ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ไฟฟ้า และยังติดตั้งไปยังโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาภายในหมู่บ้านเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสืออีกด้วย


นายยุทธพงษ์กล่าวอีกว่า ล่าสุดระบบโซลาร์เซลล์เริ่มชำรุดเสียหายเพราะขาดการบำรุงรักษาจึงทำให้กระแสไฟฟ้าใช้การไม่ได้ทั้งหมู่บ้าน เมื่อไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่หลายครั้งก็พบว่าเรื่องได้เงียบหายไป นอกจากนี้ ระบบอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์ก็เข้าไม่ถึงทำให้ชาวบ้านต้องขึ้นไปบนเขาสูงเพื่อหาสัญญาณกรณีจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์อีกด้วยจึงได้รับความยากลำบากมาก

ด้านนายสมาน ฐานะกอง ครูการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่เข้าไปให้การศึกษาที่โรงเรียนตามการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาภายในโรงเรียนเข้าเรียนประมาณ 20 คน ซึ่งที่ผ่านมาก็จะสอนหนังสือเด็กๆ ในช่วงเวลากลางวัน ส่วนภาคกลางคืนก็จะสอนกลุ่มผู้ใหญ่ให้พออ่านออกเขียนได้บ้างโดยอาศัยกระแสไฟฟ้าที่เคยมีอยู่ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันกระแสไฟฟ้าใช้การไม่ค่อยได้แล้วจึงประสบกับความยากลำบากมากโดยต้องใช้ไฟฉายและเทียนไฟ เพื่อช่วยสอนชาวบ้าน หรือแม้แต่ในอดีตหากแผงโซลาร์เซลล์ใช้การได้ดีแต่มีฝนตกหรือไม่มีแสงอาทิตย์เพียงพอก็ประสบปัญหาเหมือนเดิมอีก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเข้าไปดูแลหมู่บ้านนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น