ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ทึ่ง! “น้องเมฆ” เด็ก ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น ประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 โดยใช้ Dust Sensor แจ้งเตือนผ่านไลน์หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ด้านนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย แนะส่งผลงานประกวดระดับประเทศ
ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กำลังปกคลุมท้องฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นั้นส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เมื่อสูดดมสะสมนานวันเข้าจะทำให้ร่างกายเกิดเจ็บป่วย โดยเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 ณ ปัจจุบันยังมีอยู่จำกัด มีเครื่องตรวจวัดติดตั้งอยู่เพียงไม่กี่จังหวัด เนื่องจากเครื่องตรวจจับฝุ่น PM 2.5 มีราคาที่สูงมาก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น เลย และมุกดาหาร เท่านั้น
ที่น่าสนใจ มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ขึ้นมาได้แล้ว จากผลงานของนักเรียน โรงเรียนเมทนีดล อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีงานเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์เครื่องวัดฝุ่น PM 2.5 และเจ้าของผลงานชิ้นดังกล่าว ที่ห้องประชุม PDCA ชั้น 2 โรงเรียนเมทนีดล โดย ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล ได้เปิดตัว ด.ช.ชยกฤต (เมฆ) เพียนอก นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้คิดค้นและประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 โดยใช้ Dust Sensor
ทั้งนี้ ด.ช.ชยกฤต หรือน้องเมฆ ได้มองเห็นประเด็นปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 นำปัญหามาคิดค้นจนตกผลึก สามารถคิดค้น “เครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 โดยใช้ Dust Sensor” เพื่อแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) หากต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ไลน์จะแจ้งเตือนทันที พร้อมกับแจ้งค่าปริมาณฝุ่นให้เห็น ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องรีบสวมหน้ากากและควรออกห่างจากบริเวณนั้นทันที
งานเปิดตัวสิ่งประดิษฐ์เครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสังคมมาก เนื่องจากขณะนี้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน มีปริมาณค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จนกลายเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องหาทางแก้ไข โดยมีอาจารย์ชาวต่างประเทศ นักเรียนลูกครึ่งไทย-ต่างชาติ เข้าร่วมสาธิตการทำงานเครื่องวัดปริมาณ PM 2.5 ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชน
ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล กล่าวว่า ทางโรงเรียนเมทนีดลได้เชิญ ผศ.ดร.เกสร วงศ์เกษม อาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาเป็นอาจารย์พิเศษ และเป็นผู้ปกครองโรงเรียน มีจิตอาสาช่วยสอนนักเรียน ทักษะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอด 3 ปี จึงเป็นเสมือนพี่เลี้ยง ดูแลทั้งน้องเมฆและเพื่อนๆ ตั้งแต่เรียนประถมศึกษา ซึ่งน้องเมฆมีแววเด่นด้านงานปัญญาประดิษฐ์ AI กระทั่งขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 น้องเมฆสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ มีความคิดที่ยอดเยี่ยม ผลงานไม่เป็นรองนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ด้านหลักสูตรและการสอนของโรงเรียนเมทนีดล โรงเรียนมีคุณครูประจำวิชาปัญญาประดิษฐ์ AI ทั้งชาวไทย และจีน คือนายณรงค์ธร เนื้อจันทา (ครูกอล์ฟ) จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย Ms.Ren Shuang คุณครูชาวจีนกลาง จากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิน ได้พร่ำสอนน้องเมฆให้เรียนวิชา AI ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เมื่อขึ้นมัธยมฯ เด็กทุกคนต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเองในวิชา IPG (International Independent Project Qualification) และ AI (Artificial Intelligence) ต้องคิดประเด็นทำงานวิจัย ต้องเสนอปัญหาพร้อมหาทางแก้ จึงคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมที่อยู่ในกระแส ต้องการให้ประชาชนรู้ตัว ขณะที่ต้องเผชิญละอองฝุ่น PM 2.5 ในจุดเสี่ยงต่างๆ ถือว่าเมฆ มีทักษะการเรียนรู้ที่ดีมาก และสามารถต่อยอดนวัตกรรมไปได้อีกมาก
ด้าน ด.ช.ชยกฤต เพียนอก หรือน้องเมฆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเมทนีดล กล่าวว่า ขั้นตอนการทำงานของเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ใช้ Dust Sensor แจ้งเตือนผ่านไลน์ เมื่อเปิดสวิตช์อุปกรณ์จะเริ่มตรวจจับฝุ่น ณ บริเวณนั้น โดยเซ็นเซอร์ใช้หลักการปล่อยแสงเลเซอร์ไปยังตัวรับเซ็นเซอร์ แปลงค่าเป็นปริมาณของฝุ่นแล้วส่งไปยัง nodemcu ให้ประมวลผล และแสดงผลค่าการวัดผ่านหน้าจอ LCD ทั้งยังแจ้งเตือนไปแอพพลิเคชั่นไลน์ บนมือถือผ่านระบบ wifi ซึ่งจะแสดงค่าปริมาณฝุ่นแบบ Real time
ด้าน ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคม ปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า ขอชื่นชมนักเรียนเมทนีดลทุกคน และเด็กชายชยกฤต เพียนอก ที่สามารถสร้างนวัตกรรม AI เพื่องานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ขณะที่อยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เทอม 1 โดยพบ ด.ช.ชยกฤต ภายในงาน การประชุมวิชาการสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2562 การจัดการสุขภาพในยุคปัญญาประดิษฐ์ : Health Management in Artificial Intelligence Era
“รู้สึกทึ่งมากที่นักเรียนเพียงชั้น ม.1 ของโรงเรียนเมทนีดล จังหวัดขอนแก่น มีความสามารถคิดค้น ประดิษฐ์นวัตกรรมเอไอ (AI) และเป็นประเด็นสำคัญของโลกที่ตอบสนองด้านสาธารณสุขอย่างแท้จริง ถามอะไรในเชิงลึกด้านโคดดิ้ง นักเรียนตอบได้ชัดเจนทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ซึ่งแนะนำให้ส่งผลงานเข้าประกวดระดับชาติ ซึ่งโรงเรียนเมทนีดลได้ส่งเสริมนักเรียนมาถูกทางมาตลอด 12 ปี ยิ่งยุคดิจิทัล โรงเรียนได้สร้างและส่งเสริมนักวิจัยวัยเยาว์ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้อย่างน่าทึ่ง” ศ.ดร. ธนารักษ์กล่าว