AI กำลังจะแทนที่มนุษย์, 10 อาชีพที่ใกล้จะตกงาน, อยู่อย่างไรในวันที่ AI เข้ามาแทนที่ ฯลฯ เหล่านี้คือหัวข้อสนทนาที่เราพูดกันบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า เราได้เข้าสู่ยุค “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial intelligence (AI) แล้ว และเราก็ค่อนข้างมีความกังวลกับสิ่งนี้
ทว่า ในความเป็นจริงแล้วมันก็ไม่ได้ดูแย่ไปเสียทั้งหมด ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AI) บอกว่า เป็นความจริงที่ว่า AI กำลังถูกพัฒนาและมีผลทำให้ทักษะบางอาชีพค่อยๆ ปิดตัวลง แต่ขณะเดียวกัน AI ก็เปิดประตูแห่งโอกาสอีกบานออก
ฉะนั้น การอยู่รอดในยุค AI จึงขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ที่จะต้องมีทักษะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
คำถามคือ แล้วทักษะแบบใดที่โลกยุคใหม่ต้องการ ?
สิ่งที่ต้องเข้าใจเป็นลำดับแรกก็คือ AI มีการทำงานหลายรูปแบบ อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 1. รูปแบบการทำงานแบบอัลกอริทึม (Algorithm) ซึ่งเป็นกระบวนการนำเข้าและหาผลลัพธ์ที่เป็นขั้นตอนชัดเจน 2. การทำงานแบบเทคโนโลยีเสริมศักยภาพของมนุษย์(Augmentation) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับมนุษย์และเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการทำงานลง 3. การทำงานแบบอัตโนมัติ (Autonomy) ซึ่ง AI จะมีบทบาทแทนที่มนุษย์ คือสามารถตัดสินใจแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด
“ทุกวันนี้ ทั่วโลกยังคงใช้งาน AI ในสองประเภทแรก ส่วนการให้ AI เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจแทนมนุษย์หรือทำงานแทนมนุษย์ทั้งหมดนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร” ดร.ธนารักษ์ ระบุ
แม้ว่าขณะนี้ บทบาทของ AI จะเป็นทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ หากแต่จุดแข็งของ AI อันประกอบด้วย ความชัดเจน ความแม่นยำ และการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่ต้องทำอย่างซ้ำๆ และประมวลผลไม่ซับซ้อน
แน่นอนว่า ประตูที่กล่าวถึงข้างต้นกำลังถูกปิดลง แต่ประตูอีกบานกำลังค่อยๆ ถูกแง้มออก โดยโอกาสที่เปิดกว้างในยุค AI คืองานที่มีลักษณะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ทักษะทางสังคมทักษะด้านจิตวิทยา การอธิบาย การประสานงาน การตัดสินใจ การประเมินและวิเคราะห์ระบบ การใช้เหตุผล ตลอดจนการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
“ทักษะเหล่านี้เป็น Soft Skill ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับหลายๆ อย่าง เป็น Multi Skill ที่ต่อยอดไปสู่การเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ดังนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือ มนุษย์ต้องปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่แทบจะตลอดเวลา” อาจารย์ธนารักษ์ ระบุ
นายกสมาคม AI วิเคราะห์เทรนด์ว่า งานในโลกยุคใหม่จะเน้นความสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่เครื่องจักรผลิตออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน การทำงานจึงจะไม่ใช่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกันหมด หากแต่จะมีลักษณะเป็นหน่วยย่อย เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) สตาร์ทอัพซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านเทคโนโลยี มีความคล่องตัวสูง พร้อมจะปรับจะเปลี่ยนเปลี่ยนได้ทุกสถานการณ์
ดังนั้น ทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่ อาจจัดเป็นหมวดกว้างๆ ได้แก่
1. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity Skill) คือสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์และสร้างเป็นไอเดียจำนวนมาก ซึ่งต้องใหม่และสามารถใช้แก้ปัญหาที่แต่ละธุรกิจเจอได้
2. ทักษะการบูรณาการเทคโนโลยี (Integration Skill) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี แอปพลิเคชันที่มีหลากหลาย กระจัดกระจาย มาหลอมรวมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ได้ สามารถมองเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตอบสนองทั้งเทคโนโลยี การตลาด และประโยชน์ของสังคม
3. ทักษะแบบอ่อน (Soft Skill) ซึ่งเน้นไปในทางการสื่อสาร การปรับตัว การแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ซึ่งช่วยให้ย่อยข้อมูลจำนวนมากได้ โดยต้องรู้จักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ ตีความ ประเมินทางเลือกและตัดสินใจ
4. ทักษะการคิดแบบกลยุทธ์เพิ่มมูลค่า (Value-Added Development Skill) ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ และ
5. ทักษะการสร้างความสุข (Well-Being Skill) ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข โดยทักษะทั้งหมดนี้สามารถประยุกต์เข้ากับทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในสายเทคโนโลยี การบริการ การท่องเที่ยว การทำธุรกิจ
ดร.ธนารักษ์ อธิบายอีกว่า เมื่อลักษณะของแรงงานในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป สถาบันการศึกษาเองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามเช่นกัน ตัวอย่างเช่นที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้พัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับรูปแบบห้องเรียนเดิม เช่น การทำ E-Learning เพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทาง เรียนเวลาไหนก็ได้ รวมถึงการเพิ่มภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองทำจริง แก้ปัญหาจริง
“สิ่งสำคัญคือสถาบันการศึกษาต้องช่วยเป็นโค้ชให้ผู้เรียนค้นพบ Talent (ความสามารถ) รวมถึงความเชี่ยวชาญของตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขาเจอสิ่งที่ถนัดหรือสิ่งที่ชอบเพียงอย่างหนึ่ง แล้วทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดก็จะประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งน่าจะดีกว่าการเรียนได้เกรด A ทุกวิชา แต่ไม่รู้ว่าจบแล้วจะไปทำอะไร สุดท้ายก็จะจมหายเข้าไปในตลาดแรงงาน” อาจารย์ธนารักษ์ ระบุ
อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศฯ กล่าวต่อไปว่า ที่คณะของเราจะไม่มีกติกาว่าต้องผ่านวิชานี้ถึงจะสามารถเข้าเรียนวิชานั้นได้ เราทำให้การเรียนเป็นแบบ Customize (แบบเฉพาะเจาะจง) เพื่อให้ผู้เรียนค้นหาเส้นทางประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเอง เรามีการจัดพื้นที่ Co-working space ให้เกิดชุมชนความรู้ เกิดการแชร์ข้อมูล
“ที่สำคัญเมื่อเรียนจบไปแล้วก็ต้องเข้าใจทั้งเทคโนโลยี การตลาด และธุรกิจ ไม่ใช่เป็นสายเทคโนโลยีแต่คุยกับแหล่งทุนไม่รู้เรื่อง คุยคนละภาษา ไม่เข้าใจการตลาดและธุรกิจ” นายกสมาคม AI ย้ำถึงทักษะที่โลกยุคใหม่ต้องการ และเป็นสิ่งสถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องให้ความสำคัญในการติดอาวุธให้บัณฑิต
โลกยังคงหมุนไป และเราคงไม่สามารถกั้นขวางการเติบโตของ AI ได้ ฉะนั้นในยุคที่ AI เชื่อมโยงกับทักษะแรงงาน ทางเดียวที่มนุษย์จะอยู่รอดคือการปรับตัวให้เท่าทัน และอย่าลืมว่าในระหว่างที่เราใช้ AI ตัวของ AI ก็ยังต้องพึ่งพามนุษย์เช่นกัน
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นโอกาสของทุกคนที่มีความพร้อม