xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 "มูลนิธิเด็ก" พัฒนาสมอง สู่พลเมืองคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



40 ปีเต็มเพื่อเด็กไทย “มูลนิธิเด็ก” กับการเยียวยาเด็กด้อยโอกาส ยากจน ไร้ที่พึ่งพิง เริ่มต้นรับเลี้ยงเด็กที่ “บ้านทานตะวัน” พร้อมการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ เน้นความสุข-เสรีภาพ ก่อกำเนิด “โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก” และ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก” ปณิธานมุ่งมั่น ตั้งเป้าลดปัญหาเด็กสู่ระดับรากหญ้า

ไม่ทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง


“ความเสมอภาค หรือ Equity เป็นคำที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อสังคมเริ่มตระหนักว่าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ สิ่งสำคัญคือมนุษย์ไม่ได้อยากเท่าเทียมกันเสมอไป แต่เราอยากมีความสุขสบายตามอัตภาพ สังคมมีโอกาสให้ลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้น การตระเตรียมสภาพแวดล้อม กระบวนการ หรือ ทางออกที่ดี เพื่อพาทุกคนให้เข้าถึงโอกาสตามศักยภาพของแต่ละคนได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

มูลนิธิเด็กในฐานะองค์กรที่ทำงานกับเด็กด้อยโอกาสจึงมุ่งมั่นจับมือกัน เพื่อพาเด็กทุกคนก้าวเข้าสู่ Equity Land ด้วยปรัชญาการศึกษาที่เรายึดมั่นมาตลอด ๔๐ ปี โดยไม่ละเลยความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า และไม่ละทิ้งเด็กคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง”

สภาเด็ก ปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย
พิภพ ธงไชย เสาหลักแห่งมูลนิธิเด็ก บอกเล่าถึงเป้าหมายหลักของมูลนิธิเด็ก สู่ก้าวที่ ๕ ทศวรรษแห่งพัฒนาการ เพื่อการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ สู่การเป็นพลเมืองคุณภาพ

มูลนิธิเด็กเริ่มดำเนินงานจากการดูแลเด็กยากจน ประสบปัญหาด้านโภชนาการ จนส่งผลต่อพัฒนาการของสมองและร่างกาย ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงโอกาสที่ควรจะได้รับ สิ่งหนึ่งที่มูลนิธิเด็กสามารถฟื้นฟูและตระเตรียมให้พวกเขาคือ การศึกษาที่ปลดปล่อยเด็กจากโครงสร้างของการกดขี่ การสร้างการศึกษาทางเลือกและ Home School โดยมีโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเปรียบเหมือนเข็มทิศพาเราก้าวย่างบนเส้นทางการศึกษาในทศวรรษต่อไป

เราคิดตลอดเวลาว่า ยังมีเด็กนับล้านที่ลำบากและยากจน แต่เราสามารถช่วยเด็กเหล่านี้ได้จำนวนหลักร้อยหลักพันเท่านั้น เราจึงต้องใช้งานของมูลนิธิเด็กเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงแนวคิดเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก เปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษา การจัดโรงเรียน และ กระบวนการเรียนรู้ของเด็กให้เป็นธรรมชาติ ซึ่งผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งผลต่อเด็กที่ไม่ได้ผ่านมือของมูลนิธิและกำลังรอความช่วยเหลือออกไปในวงกว้าง

การเรียนการสอนนอกกรอบแต่นักเรียนอยากเรียนรู้
การเกิดโรงเรียนทางเลือก การเกิดโรงเรียนในบ้าน การเกิดนิทานจินตนาการ การตระหนักถึงการอ่านหนังสือของเด็ก การตระหนักถึงสิทธิเด็ก การตระหนักถึงเสรีภาพในการเรียนรู้ของเด็กให้มากขึ้น การที่สังคมเห็นปัญหาในโรงเรียน เห็นปัญหาการรวมศูนย์อำนาจทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ก็มาจากส่วนหนึ่งของงานมูลนิธิเด็ก จนสังคมมีเจตจำนงร่วมกันว่า ต้องปฏิรูปการศึกษา วัฒนธรรมการเรียนรู้ และ วัฒนธรรมการอ่าน ของเด็กเสียใหม่ จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

พูดง่าย ๆ ว่า เด็กของเราจะอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว และ สังคมจะอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เช่นกัน ที่น่าตกใจ สังคมไทยมีเด็กพิเศษ มากขึ้น เด็กเหล่านี้จะต้องใช้ความรู้ใหม่และกระบวนจิตวิทยาใหม่ เพื่อพัฒนาเด็กพิเศษเหล่านี้ ยิ่งสังคมกำลังย่างเข้าสู่ยุค AI - Artificial Intelligence ในเร็ววันนี้ เราจะวางอนาคตของเด็กเราอย่างไร แต่ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร งานวันนี้ของเรา คือ งานปกป้องเด็ก และ งานพัฒนาเด็ก โดยไม่ละทิ้งเด็กกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง นี่คืองานของมูลนิธิเด็กที่จะกำหนดเป็นวิถีของมูลนิธิเด็ก กับการก้าวย่างไปข้างหน้าในทศวรรษที่ ๕ ซึ่งเรากำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า


“งานวันนี้ของเราไม่ใช่แค่งานปกป้องเด็ก แต่เป็นงานพัฒนาสมองเด็กเพื่อการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ สู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ”

40 ปีที่คลุกคลีกับเด็กยากจนนับพันๆคน ไม่เฉพาะแต่เด็กยากจนเท่านั้น ที่มีลักษณะพิเศษต่างๆ แต่เกิดกับเด็กชนชั้นกลางด้วย เพราะเด็กต่างตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ตั้งแต่อากาศที่มีมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และตามเมืองใหญ่แบบกรุงเทพมหานคร อาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษ ส่งผลกระทบไปสู่สมองและสุขภาพของตัวเด็ก
ต้องถือว่าการทำงานเรื่องเด็กในยุคสมัยใหม่เป็นงานหนักมาก เราจึงอยากทำให้โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก โรงเรียนอนุบาล และบ้านทานตะวันเป็นห้องทดลองการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อบอกกับสังคมว่า เราจะจัดโรงเรียนแบบเดิม โดยไม่จำแนกแยกแยะเด็ก และไม่จัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละประเภทตามแบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว

ส่วนสภาพแวดล้อมในโรงเรียนทั้งที่พุทธมณฑลสาย 4 และริมแม่น้ำแควใหญ่ เราจงใจจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาเด็ก โดยให้ฉีกออกไปจากสังคมภายนอกและโรงเรียนทั่วๆไป

ส่วนความรู้ในเรื่องเด็กนั้น เราจะพัฒนาขึ้นมากกว่า 4 ทศวรรษ เรารู้เรื่องการเชื่อมโยงสมองกับการเรียนรู้มากขึ้น เรารู้เรื่องยีนกับดีเอ็นเอมากขึ้น เรารู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กดีขึ้น และเรากำลังเรียนรู้เรื่องความฉลาดนั้นสามารถส่งต่อกันได้หรือไม่

แม่แอ๊วกับหมู่บ้านเด็ก


อีกคนที่เป็นอีกหนึ่งแม่ทัพหลักของมูลนิธิเด็ก แม่แอ๊ว-รัชนี ธงไชย ครูใหญ่แห่งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี ก่อตั้ง ภายใต้ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน Summerhill ของ A.S. Neill และพุทธธรรมกับเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การปกครองตนเอง ความเป็นกัลยาณมิตรและธรรมชาติของเด็ก โดยโรงเรียนหมู่บ้านเด็กได้ถือกำเนิดใน พ.ศ.2522

เรียกได้ว่า โรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ได้อุ้มชูเด็กน้อย ซึ่งมีความบาดเจ็บทางจิตใจจากครอบครัวและความยากจนในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง โดยมีปรัชญาการศึกษาที่ต่างไปจากการศึกษากระแสหลัก โรงเรียนแห่งนี้จึงเน้นเรื่องความรัก เสรีภาพ ความสุข และการปกครองตนเอง ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ กับครูที่ให้ความรักและความเข้าใจแบบกัลยาณมิตร

คุณพิภพ-แม่แอ๊ว เยี่ยมชมโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์
อย่างไรก็ดี สำหรับแผนการอนาคตของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ได้มีการเสริมทักษะศตวรรษหน้า สร้างพลเมืองพึ่งพาตนเอง : 3R with 3H

เพราะในศตวรรษหน้าซึ่งโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงนำหลักในการพัฒนาทักษะตามแนวคิดของเครือข่ายองค์กรเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หรือ Partnership for 21st Century Skills คือ 3R และ 4C มาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยเด็กสามารถสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะในแบบของตัวเอง มีผู้ใหญ่ในโรงเรียนหมู่บ้านเด็กซึ่งเป็นคนในชุมชนทำหน้าที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างรอบด้าน

3R ประกอบด้วย การอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) และ การคำนวณ (Arithmetic)

4C ประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) ความร่วมมือ (Collaboration) และ ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

สี่ทศวรรษ วันทาบุคคลาธิคุณ มูลนิธิเด็ก


ในโอกาสที่มูลนิธิเด็กทำงานเพื่อเด็ก เพื่อการศึกษามาอย่างยาวนานถึง 40 ปี อาจารย์ประเวศ วะสี ที่ร่วมคิด ร่วมสร้างมูลนิธิเด็กและโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ได้กรุณามาแสดงปาฐกถาเรื่อง “วัยเด็กที่ปริแยกแตกร้าวกับวัฏจักรความเหลื่อมล้ำ ทางออกจากภพชาติแห่งความทุกข์ยาก” ณ หอศิลป์วัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

ขอเชิญชวนเด็ก ๆ และครอบครัว มาร่วมสนุกสนาน ครื้นเครง อิ่มเอมจินตนาการ กับ ละครนิทานเพลงจินตนาการ 2 เรื่อง จากศิลปินดังระดับชาติ เรื่องแรก "ฉันจะปลูกต้นไม้" กำกับและเขียนบทละครโดย บรูซ แกสตัน บรรเลงเพลงโดย วงดนตรีฟองน้ำ ร่วมกับเหล่านักแสดงเด็ก ๆ จากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก


เรื่องที่สอง "ช้างกับเรือ" เขียนบทละครโดย เทพศิริ สุขโสภา ประพันธ์คำร้องและเรียบเรียงดนตรีโดย ดนู ฮันตระกูล บรรเลงเพลงโดย วงไหมไทย และ วงดนตรีจากกรมศิลปากร พร้อมทั้ง สุประวัติ ปัทมสูต ให้เกียรติร่วมแสดงกับเหล่านักแสดงเด็ก ๆ จากโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มูลนิธิเด็ก

การแสดงมี 3 รอบ ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลป์ฯ กรุงเทพ

รอบที่ 1 รอบพิเศษ (ไม่เสียค่าเข้าชม ที่นั่งมีจำกัดเพียง 240 ที่นั่ง) วันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 11.00 น. ติดต่อรับบัตรหน้างานเวลา 10.30 น. เท่านั้น

รอบที่ 2 วันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 14.00 น. บัตรราคา 100 บาท โปรดจองบัตรล่วงหน้า และรับบัตรเข้าชมได้ในวันแสดง

รอบที่ 3 วันที่ 12 มกราคม 2563 เวลา 14.00 น. บัตรราคา 100 บาท โปรดจองบัตรล่วงหน้า และรับบัตรเข้าชมได้ในวันแสดง

รายได้จากการจำหน่ายบัตรทั้งหมด สมทบทุนมูลนิธิเด็ก เพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิเศษยากจน
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ 40 ปีมูลนิธิเด็ก และมินิคอนเสิร์ต น้าหงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, ชูเกียรติ ฉาไธสง, วงโฮป,วงดนตรีฟุตบาธแฟมิลี่,วงเดอะวิน และอื่นๆอีกมากมาย ได้ตั้งแต่วันที่ 7-12 มกราคม 2563

พิเศษสุด ผู้เข้าชมการแสดงจะได้รับสมุดบันทึกนิทาน “ช้างกับเรือ” คนละ 1 เล่ม เป็นของขวัญจากมูลนิธิเด็ก







** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น