xs
xsm
sm
md
lg

ศึกรายวัน! ชาวนาเขตรอยต่อ 4 อำเภอ จ.ฉะเชิงเทรา หวิดยิงกันดับเหตุแย่งน้ำเข้านา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - เปิดศึกรายวัน! ชาวนาเขตรอยต่อ 4 อำเภอใน จ.ฉะเชิงเทรา หวิดยิงกันดับเหตุแย่งน้ำเข้านา ทำผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องเร่งเจรจาคลี่คลายสถานการณ์

จากเหตุการณ์ภัยแล้งอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่ต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่ในส่วนของภาคเกษตรก็กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวใน จ.ฉะเชิงเทรา

โดยล่าสุด พบว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองระบายน้ำ ร.1 ท่าเรือ ตั้งแต่บริเวณสะพานข้ามปากคลองจม ที่อยู่จุดเชื่อมต่อการระบายน้ำจากชลประทานในช่วงฤดูฝนจากคลองบึงกระจับ ใน ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มายังพื้นที่ ม.5 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น ลงสู่คลองท่าเรือ ในพื้นที่ ม.2 ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว เพื่อเข้าสู่ ต.เสม็ดเหนือ และ ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

กำลังเปิดศึกทะเลาะวิวาทกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่แนวริมคลองท่าเรือ จนถึงขั้นท้าทายที่จะใช้อาวุธปืนยิงกันในทุ่งนาเพื่อแย่งชิงสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาข้าวของตนเอง หลังก่อนหน้านี้ ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งนำรถแบ็กโฮเข้ามาขุดดินเพื่อสร้างเป็นทำนบกันน้ำปิดกั้นปากคลองจม เพื่อไม่ให้น้ำจากโครงการชลประทานที่ไหลมาจากฝายคลองท่าลาด ไหลลงสู่คลองท่าเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนล่าง

ทำให้กลุ่มผู้นำชุมชนที่ประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต.สมยศ อินทร์สุวรรณ นายก องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทองหลาง นายชัยพร อุไร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดเหนือ อ.บางคล้า นางขวัญเรือน วิหกเหิร ผู้ใหญ่บ้าน ม.5 ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น และนายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำเสม็ดเหนือ-ท่าเรือ นายชญาน์ทัต สิทธิวิชชาพร หัวหน้าฝ่ายโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 คลองท่าลาด (สบ.3) ต้องลงพื้นที่ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น

เพื่อให้ชาวบ้านทั้ง 2 ฝ่ายรวม 4 อำเภอ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข จนได้ข้อสรุปว่า ให้ชาวบ้านกลุ่มที่เข้าไปสร้างทำนบกั้นปิดขวางทางน้ำยอมที่จะรื้อถอนคันดินและเปิดทางน้ำให้ไหลผ่านปากคลองจม ลงสู่คลองท่าเรือได้ โดยขอให้มีการชะลอน้ำไว้บ้าง เพื่อไม่ให้น้ำไหลผ่านเลยไปลงสู่คลองท่าเรือทั้งหมดจนชาวนาทางตอนบนไม่สามารถสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาได้ ในระยะ 2-3 วันนี้

ขณะที่ชลประทาน สบ.3 จะทำการส่งน้ำเพิ่มเข้ามาให้อีกระยะหนึ่งเพื่อให้ระดับน้ำในลำคลองสูงขึ้น

นายณรงค์ นงค์จิตร ชาวบ้าน ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม บอกว่า สาเหตุที่กลุ่มชาวบ้านริมคลองจม เข้าไปสร้างทำนบปิดขวางทางน้ำเนื่องจากน้ำที่ได้รับการแบ่งปันจากโครงการชลประทานในช่วงระยะ 10 วันสุดท้ายของปี มีน้ำไหลผ่านลำคลองเพียงเล็กน้อย จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะสูบน้ำเข้าสู่แปลงนาได้ จึงต้องทำการปิดปากคลองเพื่อให้ระดับน้ำในลำคลองสูงพอที่จะท่วมปากท่อสูบน้ำ เพื่อให้ชาวนาสามารถสูบน้ำได้บ้าง

โดยยอมรับว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทำกันที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าชาวบ้านเปิดศึกแย่งชิงน้ำจนถึงขั้นจะยิงกันตายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะชาวนาส่วนใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดีเพียงแต่อาจจะมีการตะโกนส่งเสียงดังพูดคุยกันข้ามทุ่งเท่านั้น

ด้านว่าที่ ร.ต.สมยศ อินทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าทองหลาง เผยว่า ขณะนี้ผืนนาใน ต.ท่าทองหลาง รวมพื้นที่กว่า 1,500 ไร่ เสียหายไปแล้วจำนวนกว่า 500 ไร่ เนื่องจากการขาดน้ำ ส่วนอีกประมาณ 1 พันไร่นั้นยังคงต้องการน้ำหล่อเลี้ยง ซึ่งหากได้น้ำจากการเปิดทำนบลงไปหล่อเลี้ยง ก็จะทำให้นาข้าวในส่วนที่ยังยืนต้นรอน้ำอยู่นั้นรอดตายได้

ส่วนนาข้าว จำนวน 500 ไร่ ที่เสียหายไปแล้วนั้นก็จำเป็นต้องประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อขออนุมัติการเยียวยาช่วยเหลือจากทางจังหวัดต่อไป

เช่นเดียวกับ นายยุทธพงษ์ ช่ำชอง ชาวบ้าน ต.หนองแหน อ.พนมสารคาม ที่บอกว่าชาวบ้านริมคลองจม ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อ ต.เมืองใหม่ อ.ราชสาส์น และ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว ต้องการทดน้ำเติมเข้านาเพราะมีอาชีพทำนาเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยประสบปัญหาภัยแล้งเช่นนี้ และหากจะต้องทิ้งข้าวที่กำลังตั้งท้องได้ผลผลิตอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าให้ยืนต้นตายก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

เพราะที่ผ่านมา ได้ลงมือหว่านไถตามวงรอบการทำนาปกติในทุกๆ ปี จนข้าวเริ่มตั้งท้องและใส่ปุ๋ยรอบที่ 2 แล้ว ซึ่งหากยังไม่ได้ลงทุนชาวนาก็สามารถที่จะตัดสินใจทิ้งต้นข้าวในนาได้ แต่หากปล่อยนาข้าวทิ้งไปชาวนาก็จะเสียหายอย่างหนัก










กำลังโหลดความคิดเห็น