อุทัยธานี/เชียงราย - ราคาหมูมีชีวิตพุ่งสูงเกินราคากลางตั้งแต่ก่อนตรุษจีน แถมส่อยาวถึงสงกรานต์ กระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ผู้ค้ารายย่อย-เขียงหมู-ร้านอาหารแผงลอยตามสั่ง ต้นทุนเพิ่มกันถ้วนหน้า แถมบางจังหวัดเจอกฎเหล็กห้ามรายย่อยขนหมูนอกพื้นที่เข้าซ้ำ
ห้วงก่อนตรุษจีนปีนี้ราคาเนื้อหมูสดปรับสูงขึ้นทุกเขียงทุกจังหวัด ล่าสุดวันนี้ (19 ม.ค.) ที่เขียงหมูอุทัยธานี พบว่าหมูสันในสันนอกขายกันในกิโลกรัมละ 160 บาท สันคอกิโลกรัมละ 150 บาท สามชั้นกิโลกรัมละ 170 บาท สะโพกกิโลกรัมละ 140 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
นายสมชาย โพธิ์ประดิษฐ์ อายุ 49 ปี พ่อค้าร้านอาหารตามสั่งรายหนึ่งในเขตเทศบาลตำบลหนองฉาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เล่าว่า ช่วงนี้ราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้นมาก ตอนนี้อยู่ที่กิโลฯ ละ 160 บาท น้ำมันหมูถุงละ 1 กิโลกรัม จากปกติที่เคยซื้อ 5 ถุง 100 บาท ตอนนี้กลายเป็น 3 ถุง 100 บาท ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก แต่ที่ร้านก็ไม่ได้ปรับราคาอาหารขึ้นหรือลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงอย่างแน่นอน ยังคงขายในราคาเดิม
โดยอาหารตามสั่งประเภทหมูกรอบ หมูชิ้น หมูสับ เนื้อไก่ เนื้อปลา เครื่องในไก่ ขายจานละ 30 บาท อาหารทะเลจะอยู่ที่จานละ 40 บาท เพิ่มไข่ดาว 5 บาท ส่วนเมนูกับข้าวถุงจะอยู่ที่ราคา 50-60 บาท
อนึ่ง ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ นายกฤษณะ ชูศรี ผู้แทนกลุ่มผู้ประกอบการค้าสุกรมีชีวิตและชิ้นส่วนสุกร จ.เชียงราย ได้นำรายชื่อผู้ประกอบการเครือข่าย 227 รายเข้ายื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีผู้ค้าสุกรมีชีวิตรายใหญ่ขึ้นราคาสุกรเกินราคากลางสุกรพื้นที่ภาคเหนือ จากประกาศครั้งล่าสุด 9 ม.ค. ราคากิโลกรัมละ 81 บาท เป็น กก.ละ 88 บาท หรือสูงกว่าราคากลางถึง 7 บาท
นายกฤษณะกล่าวว่า การขึ้นราคาสุกรมีชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จะถึงเทศกาลตรุษจีนเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าหมูรายย่อย รวมถึงผู้บริโภคได้รับผลกระทบกันหมด เพราะเมื่อมีการปรับราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้นกว่าเดิมถึงกิโลกรัมละ 7 บาท สุกรตัวหนึ่งเฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 700 บาท และเนื้อสุกรไปชำแหละตามเขียงหมูเดิมขายกันในราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท ตอนนี้ก็ต้องปรับขึ้นเป็นกว่า 160-170 บาทแล้ว
และเนื่องจาก จ.เชียงรายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือเอเอสเอฟ ซึ่งมีมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ผู้ค้ารายย่อยไม่สามารถนำสุกรมีชีวิตจากนอกพื้นที่เข้าไปจำหน่ายได้เหมือนเดิม แต่รายใหญ่กลับได้รับสิทธิ์นำสุกรนอกพื้นที่เข้าเชียงรายได้ ทำให้ผู้ค้ารายย่อย-เขียงหมูต้องอยู่ภายใต้การค้าแบบผูกขาดกันทั้งจังหวัด จึงหวังว่าทางจังหวัดจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยอนุญาตให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยสามารถนำเข้าสุกรมีชีวิตได้เหมือนเดิมและกำหนดราคาซื้อขายสุกรมีชีวิตให้เป็นไปตามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประกาศไว้