xs
xsm
sm
md
lg

จีนยึดเรียบ..ไชน่าทาวน์ผุดทั้งริมฝั่งโขง-จุดยุทธศาสตร์ R3b เส้นทางสายคุน-มั่ง กงลู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามเหลี่ยมทองคำ - กลุ่มทุนจีนทั้งรายใหญ่-รายย่อยพาเหรดเข้ายึดหัวหาดพื้นที่ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมทองคำ ทั้งริมฝั่งโขง-ถนน R3b เส้นทางสายคุน-มั่ง กงลู่ จนกลายเป็นเหมือนไชน่าทาวน์ : หยวนโซน บนแผ่นดินลาวไปทุกขณะ


พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ตามแนวยุทธศาสตร์ คุน-มั่ง กงลู่ ; คุนหมิง-กรุงเทพฯ ซึ่งมีถนน R3b ตัดผ่านลาวตอนเหนือ ตั้งแต่บ่อเต็น (ชายแดนลาว-จีน) แขวงหลวงน้ำทา-เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว รวมทั้งแม่น้ำโขง เป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่สำคัญ มาถึงวันนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม

โดยเฉพาะเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ส่วนหนึ่งของสัมปทานโครงการ Kings Romans of LAOS Asian Economic & Tourism Development Zone ที่รัฐบาลลาวให้สัมปทานแก่กลุ่มดอกงิ้วคำจากจีนเมื่อปี 2550 และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552


สัญญาสัมปทานครั้งแรกดอกงิ้วคำได้สิทธิ์เช่าที่ดินจากรัฐบาลลาว 827 เฮกตาร์ (5,168 ไร่) เป็นเวลา 99 ปี เพื่อสร้างศูนย์บันเทิงครบวงจร ใช้เงินลงทุนของกลุ่มดอกงิ้วคำเองทั้ง 100% ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์ ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2557 รัฐบาลลาวปรับปรุงสัญญาขยายพื้นที่สัมปทานขึ้นเป็น 2,173 เฮกตาร์ (13,581 ไร่) โดยปรับรูปแบบโครงการเป็นการสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอีก 1 แห่ง

ปัจจุบันเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มีพื้นที่ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลลาวรวม 10,000 เฮกตาร์ (6.25 หมื่นไร่) นอกจากพื้นที่ในเขตพัฒนาตัวเมืองประมาณ 3,000 เฮกตาร์แล้ว ยังได้รวมเขตป่าสงวนสายพูกิ่วลมเข้าไปด้วยอีก 7,000 เฮกตาร์

ในเขตพัฒนาตัวเมืองนั้นได้วางระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ยังได้สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล และสนามบินแห่งใหม่ รวมถึงสร้างสนามกอล์ฟและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงโครงการ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน


เมื่อปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ รวม 452,571 คน เป็นการเข้าผ่านด่านสากลสามเหลี่ยมทองคำ 131,593 คน โดยเฉพาะชาวจีนเดินทางผ่านถนน R3a จากชายแดนสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ระยะทางประมาณ 254 กิโลเมตร รวมทั้งนั่งเครื่องมาลงที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อ.เมืองเชียงราย ก่อนนั่งรถต่อไปยัง อ.เชียงแสน เพื่อนั่งเรือข้ามฟากไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษฯ เป็นจำนวนมาก

ทุกวันนี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ มีโรงแรมไว้ให้บริการ 13 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 1,303 ห้อง และสิ้นปีนี้จะมีโรงแรมเปิดให้บริการใหม่อีก 3 แห่ง และเมื่อเดือนพฤษภาคม 62 ที่ผ่านมา กาสิโนซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฯ ได้ประกาศรับสมัครคนลาวให้เข้าทำงานใน 9 ตำแหน่งงาน จำนวน 80 อัตรา กำหนดอัตราเงินเดือนเป็นเงินหยวน เริ่มต้นที่ 2,200 หยวน หรือประมาณ 10,000 บาท


จันทะจอน วางฟาเซง กรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เปิดเผยต่อสำนักข่าวสารประเทศลาวว่า นับแต่ปี 2555 ถึงกลางปี 2562 เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่กลุ่มดอกงิ้วคำได้รับสัมปทานจากรัฐบาล สปป.ลาว ได้จ่ายพันธะอากรให้แก่รัฐบาลลาวแล้วรวม 458 ล้านดอลลาร์

ในปี 2562 ณ สิ้นสุดเดือนกันยายน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำมีรายรับรวม 150 ล้านดอลลาร์ คาดว่าปี 2568 จะเพิ่มเป็น 370 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 150% จากปัจจุบัน

ขณะที่จุดยุทธศาสตร์เส้นทาง R3b ก็มีกลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง (Haicheng Group) ที่มีโจวคุน นักธุรกิจชาวจีนจากมณฑลยูนนานเป็นประธาน เป็นเจ้าของโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า 9 จอม 12 เจียงในเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา และเคยเสนอซื้อโรงแรมดาราเทวี ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เกิดปัญหาจนต้องพับแผนไปในภายหลัง ได้เข้ามาปักหมุดไว้ทั้งต้นทางชายแดนลาว-จีน ถึงปลายทางชายแดนลาว-ไทย


กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง เป็นเจ้าของสัมปทานเขตเศรษฐกิจเฉพาะบ่อเต็นแดนงาม เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งเป็นต้นทางของถนน R3a และเป็นต้นทางของทางรถไฟลาว-จีน ขณะนี้กำลังมีการสร้างให้เป็นเมืองใหม่บนพื้นที่ 34.2 ตารางกิโลเมตร (21,375 ไร่) ประกอบไปด้วยศูนย์กลางการเงิน การค้า การลงทุน เขตปลอดภาษี และเขตอุตสาหกรรม ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวน

นอกจากนี้ ยูนนาน ไห่เฉิง ยังได้สัมปทานพัฒนาพื้นที่ 13.8 เฮกตาร์ (86.25 ไร่) เชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อทำโครงการศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวสากลด้วย

โครงการพัฒนาศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวสากล เมืองห้วยทราย แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ใช้เงินลงทุนรวม 100 ล้านดอลลาร์ ระยะที่ 1 นอกจากอาคาร 2 หลังที่ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ยังจะมีโรงแรมระดับ 5 ดาว อาคารสำนักงาน อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร โรงแรมเลียบแม่น้ำโขง ส่วนระยะที่ 2 ประกอบด้วย ศูนย์การค้าปลอดภาษี สถานบันเทิง ท่าเรือท่องเที่ยว และสถานีขนส่งรถโดยสาร


หลาน จา เหว่ย ผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัทยูนนาน ไห่เฉิง ได้รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ 17 ชั้น 2 อาคาร ซึ่งเป็นจุดแรกของการพัฒนา ว่าทั้ง 2 อาคารใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มลงมือสร้างเมื่อเดือนมกราคม 62 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์เดือนกันยายนปีหน้า

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2551 ซึ่งยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้างสะพาน รัฐบาลลาวเคยมอบสัมปทานพัฒนาพื้นที่ 200 เฮกตาร์ (1,250 ไร่) บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพ 4 ให้แก่บริษัทเอเอซี กรีนซิตี้ ลาว ของครอบครัวสิงห์สมบุญ นักธุรกิจไทยผู้ก่อตั้งธนาคารร่วมพัฒนาในลาว

ตามแผนเอเอซี กรีนซิตี้ จะพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ปลายทาง R3a แห่งนี้เป็นเมืองใหม่ ไม่แตกต่างจากโครงการศูนย์การค้าและการท่องเที่ยวสากลที่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิงกำลังก่อสร้างอยู่ แต่หลังจากโครงการของเอเอซี กรีนซิตี้เริ่มสร้างไปได้เพียง 2 ปี ก็มีการเปลี่ยนแนวถนนจากสะพานมิตรภาพเพื่อไปบรรจบกับแนวถนน R3a ที่ถูกวางขึ้นใหม่ ผ่ากลางพื้นที่โครงการของเอเอซี กรีนซิตี้ ทำให้ต้องมีการปรับแผนและชะลอโครงการ จากนั้นพื้นที่โครงการจึงถูกแบ่งส่วนหนึ่งมาให้เป็นสัมปทานใหม่แก่กลุ่มยูนนาน ไห่เฉิง


และท่ามกลางกระแสการลงทุนจากจีนที่เข้าครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมทองคำ ทั้งริมฝั่งน้ำโขง-เส้นทางสาย R3b ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีคนจีนเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก จนมีการเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือน China Town-แผ่นดินจีนในประเทศลาวมากขึ้นทุกขณะ

ต้นเดือนตุลาคม 62 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยงานวัฒนธรรม สำนักงานแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยว เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ต้องไล่รื้อถอนและทำลายป้ายร้านค้า ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในตัวเมืองต่อเนื่อง เพราะเข้าข่ายผิดระเบียบของ สปป.ลาว ไม่มีตัวอักษรภาษาลาวอยู่บนป้าย หรือมี แต่ใช้ตัวอักษรภาษาอื่นขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรลาวบนป้าย


โดยมีป้ายที่ถูกรื้อถอนและทำลายรวม 62 ป้าย และได้มีการเรียกเจ้าของป้าย 6 ป้าย มาลงบันทึกไว้ว่าหากจะติดตั้งป้าย ต้องให้ตัวอักษรลาวเด่นชัดกว่าภาษาอื่น

ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาการติดตั้งป้ายที่ใช้ภาษาอื่นโดดเด่นกว่าภาษาลาวบนป้ายได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องออกมาแสดงบทบาทจัดระเบียบป้ายเหล่านี้

เช่นเดียวกับที่เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ก็มีการรื้อป้ายโฆษณาโทรศัพท์มือถือที่ตามริมถนนกว่า 150 ป้าย เพราะไม่ได้ใช้ตัวอักษรลาวที่เด่นกว่าภาษาอื่น และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม สำนักงานแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ก็ได้เข้ารื้อถอนป้ายลักษณะนี้เหตุผลเดียวกัน

ทั้งนี้ แขวงหลวงน้ำทามีพื้นที่ติดกับประเทศจีน เป็นประตูเข้า-ออกสำหรับการค้าขายและสัญจรระหว่างคนลาวกับจีน ทำให้มีชาวจีนเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเป้าหมายทางการตลาดที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น