xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป)ที่แท้ฝีมือเสือห้วยขาแข้ง!กล้องดักถ่ายเห็นชัดมือฆ่ากระทิงป่าแม่วงก์ พบย้อนกลับมากินเหยื่อซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครสวรรค์/กำแพงเพชร – จนท.อุทยานฯแม่วงก์-ทีมงาน WWF ตั้งกล้องดักถ่ายเห็นชัด..ภาพมือฆ่ากระทิงทิ้งซากกลางป่า ที่แท้ฝีมือเสือโคร่งตัวเขื่อง ย้ายถิ่นจากห้วยขาแข้ง เตรียมดักจับใส่ปลอกทำวิจัยต่อ




กรณีเพจเฟซบุ๊ก “กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า กระทิงเพศเมียตัวเต็มวัยถูกฆ่าตายอยู่ภายในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตรงจุดใกล้กับร่องน้ำทางขึ้นมอมะค่า ไปแคมป์แม่กระสา เขตรอยต่อระหว่าง อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

ซึ่งพบซากกระทิงตัวดังกล่าว เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 22 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา อยู่ในสภาพมีบาดแผลเป็นรอยเขี้ยวบริเวณคอ ลำตัวมีรอยกรงเล็บจนเป็นแผลฉกรรจ์ และพบรอยกัดแทะที่บริเวณลำตัวด้านท้าย คาดว่าน่าจะตายจากการถูกล่า


นายกิติพัฒน์ ธาราภิบาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร-นครสวรรค์ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า หลังสั่งการให้นายวีระเชษฐ์ บุพพะโก ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ และคณะ เดินทางเข้าตรวจสอบตามจุดที่ได้รับแจ้งพบซากกระทิงเพศเมียตัวเต็มวัยนอนตายภายในป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ห่างจากเส้นทางเดินรถประมาณ 50 เมตรนั้น ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการถูกล่าโดยฝีมือของเสือโคร่ง ไม่ได้เป็นฝีมือคน หรือนายพรานแต่อย่างใด

เพราะได้มีการหาหลักฐาน จนพบรอยอุ้งเท้าเสือบริเวณที่พบซากกระทิง จากนั้นได้ประมาณเจ้าหน้าที่ WWF นำกล้องดักแอบถ่ายไปติดตั้งไว้รอบๆ บริเวณ กระทั่งจับภาพได้ว่าช่วงกลางดึกจนถึงช่วงสาย มีเสือโคร่งเพศผู้ตัวโตเต็มวัยเข้าสู่ช่วงปลาย เดินกลับมากินซากกระทิงที่เหลืออีกครั้งหนึ่ง


จากการตรวจสอบของทีมงานนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนักวิจัยของ WWF พบว่าเสือโคร่งตัวที่เห็นในคลิปวีดิโอ ซึ่งกำลังกินซากกระทิงดังกล่าว คือ เสือโคร่งรหัส HKT 204 หรือ MKM8 เพศผู้ ตัวโตเต็มวัยกำลังเข้าสู่โตเต็มวัยช่วงปลาย (old adult)

ทั้งนี้จากฐานข้อมูลเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่าเสือโคร่งตัวนี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกของเสือโคร่งรหัส HKT 165 เคยถ่ายภาพครั้งแรกได้เมื่อปี 2556 ต่อมาได้เดินทางมาตั้งถิ่นอาศัยของตัวเองในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยสามารถถ่ายภาพได้ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่พบเสือโคร่งล่ากระทิงในครั้งนี้ จึงถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการจะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพรรณและสัตว์ป่าสูง จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่กับโลกตลอดไป

ส่วนหลังจากนี้ ได้มีการหารือกับทีมงานนักวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วว่าจะวางแผนจับเสือโคร่งตัวนี้มาใส่ปลอกคอพร้อมกับติดวิทยุประจำตัว เพื่อเก็บข้อมูลระยะยาวของเสือโคร่งในระดับผืนป่า อันจะสามารถติดตามประชากรเสือโคร่งได้อย่างแม่นยำและต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ประกอบการวางแผนและจัดการเพื่ออนุรักษ์ให้ได้อย่างประสิทธิภาพตามหลักสิชาการต่อไป.










กำลังโหลดความคิดเห็น