น่าน - “น่านฟอรั่ม” เปิดวงคุย 14 หมู่บ้าน ต.ภูคา อ.ปัว หาทิศทางแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกิน บนป่าอุทยานและป่าสงวน พร้อมใช้ฐานข้อมูลสร้างอาชีพทางเลือก
ทีมวิชาการน่านฟอรั่ม นำโดย น.ส.พิมลพรรณ สะกิดรัมย์ ผู้จัดการมูลนิธิฮักเมืองน่าน ในฐานะนักวิชาการและนักพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะทำงานลงพื้นที่เพื่อเปิดเวทีวงคิดวงพูดคุย ร่วมกับแกนนำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน 14 หมู่บ้าน ของพื้นที่ตำบลภูคา อ.ปัว จ.น่าน เพื่อค้นหาข้อมูลสภาพปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินซึ่งทั้ง 14 หมู่บ้าน ของตำบลภูคาเป็นพื้นที่เขตป่าอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด
โดยมีนายวิโรจน์ อุดนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภูคา รักษาการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลภู, นายมนตรี เชี่ยวสุวรรณ นักจัดการฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS), นักวิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย และ Ms.Shivani Agarwal นักศึกษาปริญญาเอก ชาวอินเดีย จากมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตนฟอร์ด (Stanford University) พร้อมด้วยนายกฤษปกรณ์ กันนุลา ผู้ศึกษาและผู้ประสานงานด้านสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์และศึกษาแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลภูคา อ.ปัว จ.น่าน
ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนประเด็นต่อเนื่องจากที่เปิดเวทีวงคิดวงคุย ในเรื่องทิศทางอาชีพเกษตรและอาชีพทางเลือกของคนเมืองน่าน ซึ่งได้มีการระดมข้อมูลของเนื้อหาภาพรวมไปแล้วในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีการเลือกพื้นที่เพื่อเรียนรู้และขับเคลื่อน 3 พื้นที่ คือ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง, ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว และ ต.ภูคา อ.ปัว ซึ่งทั้ง 3 พื้นที่มีโจทย์ความท้าทายที่แตกต่างกัน และหากสามารถขับเคลื่อนได้จะเป็นพื้นที่ตัวอย่างเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ด้วย
น.ส.พิมลพรรณ สะกิดรัมย์ นักวิชาการและนักพัฒนาชุมชน มูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวว่า ได้วางแผนการขับเคลื่อนในพื้นที่ตำบลภูคา อ.ปัว อย่างน้อย 4 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกเพื่อค้นหาสภาพปัญหาที่แท้จริง และค้นหาต้นทุนศักยภาพของแต่ละกลุ่มหมู่บ้าน ทั้งเรื่องความรู้ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ หรืองานฝีมือของกลุ่มชาวบ้าน เพื่อยกระดับพัฒนาให้เป็นอาชีพทางเลือกได้
ส่วนปัญหาเรื่องพื้นที่ของทั้งตำบลที่อยู่ในเขตป่าอุทยานฯและป่าสงวนฯ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ ในเรื่องกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 64 และ 65 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และป่าชุมชน นอกจากนั้นยังมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ
โดยจากการทำกระบวนการร่วมกับแกนนำชุมชน ค้นพบว่าพื้นที่ทั้ง 14 หมู่บ้านของตำบลภูคา อ.ปัว เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน รวมทั้งป่าชุมชน อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอุทยานฯและป่าสงวนฯทั้งหมด ทำให้การใช้ประโยชน์และการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนนและระบบน้ำเพื่อการดำรงชีวิตและการเกษตร เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายหลายฉบับ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เช่น น้ำดื่มที่ไม่สะอาด ค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้และรายจ่าย นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านการศึกษา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้แม้แต่ชื่อของตัวเอง และในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังค้นพบข้อดีและจุดเด่นในศักยภาพต้นทุนของพื้นที่ด้วยเช่นกัน เช่น ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งน้ำตก และถ้ำที่สวยงามต่างๆ มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และกลุ่มงานฝีมือทั้งผ้าทอและจักสาน รวมทั้งพืชเศรษฐกิจผสมผสาน เช่น สตรอว์เบอร์รี องุ่น อะโวคาโด เสาวรส มะแขว่น ซึ่งสามารถยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างโอกาสรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยทีมวิชาการน่านฟอรั่มจะใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อให้เกิดเป็นแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับแผนขององค์การบริหารส่วนตำบลภูคาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาในแนวทางที่ทำได้จริงและเป็นรูปธรรมที่เป็นผลสำเร็จด้วย