ศูนย์ข่าวขอนแก่น-คึกคักชาวบ้าน 2 อำเภอร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง (โรงโม่หิน) หจก.ภักดีแผ่นดิน ที่อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เจ้าของกิจการรับพร้อมดูแลชุมชน ขณะที่ชาวบ้านยอมรับโรงโม่ทำให้คนในชุมชนมีงานทำ
วันนี้ (16ธ.ค.62) ที่ศาลากลางบ้าน หมู่ที่ 2 บ้านวังดำ ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น นายปรัชญา ทองแท่งไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังสวาบ เป็นประธานเปิดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ต่อร่างข้อเสนอโครงการและขอบเขตการศึกษาของเหมืองแร่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ภักดีแผ่นดินขอนแก่น มีนางวัชราภรณ์ ผ่องใส ผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีแผ่นดินขอนแก่น, ร.ต.ท.มานะชัย มาสิปา รองสารวัตรสืบสวน สภ ภูผาม่าน,
นายอรรณพ กลิ่นทอง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรงโม่หินเทพประทานพร จำกัด, นายอดิเรก รัตนวิชช์ กก.ผจก.บริษัท ทอพ- คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด, นางปทุมทิพย์ ตรีไมยราช กำนันตำบลนาฝาย และประชาชนในรัศมี 3 กิโลเมตรรอบพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย ต.วังสวาบ 6 หมู่บ้าน, ต.นาฝาย อ.ภูผาม่าน 5 หมู่บ้าน และต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 2 หมู่บ้านกว่า 1,000 คน ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น
นางลัลล์ณิชา จันทรุพันธุ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่าตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดภักดีแผ่นดินขอนแก่น ได้มอบหมายให้บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองแร่หิน อุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ของหจก.ภักดีแผ่นดินขอนแก่น ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2560
โครงการฯตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลวังสวาบ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดประชุมชี้แจงโครงการเพื่อให้หน่วยงานราชการ และประชาชนรอบพื้นที่โครงการได้รับทราบและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ
บริษัททอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด ได้นำร่างรายงานของโครงการฯ ไปเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ไว้ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังสวาบ, องค์การบริหารส่วนตำบลนาฝาย อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ศึกษาก่อนเข้าประชุมล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 15 วันนั้น
ทั้งนี้กลุ่มผู้นำชุมชน มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย ให้ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด พร้อมกับซ่อมแซมถนนและบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันช่วงหน้าแล้งให้ลดปริมาณการระเบิดหินลง ทั้งชุมชนไม่ต้องการให้ขนส่งหินผ่านชุมชน พร้อมฉีดพรมน้ำตามเส้นทางขนส่งแร่เป็นประจำ ที่สำคัญให้ระเบิดหินตามเวลาที่กำหนด ถ้าจะระเบิดหินนอกเวลาให้แจ้งเตือนชาวบ้านรับทราบก่อน รวมทั้งช่วยเหลือชุมชนและสนับสนุนโรงน้ำเพื่อบริโภคด้วย
ขณะที่นางวัชราภรณ์ ผ่องใส ผู้ประกอบการหจก.ภักดีแผ่นดินขอนแก่น การมารับฟังความคิดเห็นวันนี้ เราจะดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายและทำให้ดีที่สุด การระเบิดต้องมีเสียงดัง มีฝุ่นละออง แต่เรามีระบบควบคุม มีระบบฉีดน้ำให้มีฝุ่นละอองน้อยที่สุด และการระเบิดแบบใหม่จะควบคุมฝุ่นละอองมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผลกระทบต่ำลง หากชาวบ้านได้รับผลกระทบด้านใด จะมีกลไกของผู้นำชุมชนไปประสานกับโครงการให้การช่วยเหลือ
ด้านนางโศภิษตา ปู่หลุ่น อายุ 34 ปี บ้านเลขที่ 87 หมู่ 1ต.นายฝาย อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ในฐานะชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่โครงการโรงโม่หิน กล่าวว่าจากข้อมูลที่เข้าร่วมรับฟังการประชุมชี้แจงโครงการเหมืองแร่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ของหจก.ภักดีแผ่นดินขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลกับประชาชนที่ชัดเจน ซึ่งตนตั้งใจฟังถึงผลได้ผลเสีย ที่โรงโม่หินจะเกิดกับชุมชน ซึ่งการดำเนินงานของผู้ประกอบการรายนี้ ที่ผ่านมาได้รับผิดชอบและลงทุนในระบบสาธารณูปโภคกับชุมชนในระดับที่ดีมาก
ทั้งจัดให้มีกองทุนสุขภาพ ตรวจสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่โครงการเป็นประจำ อีกทั้งยังสนับสนุนด้านการก่อสร้างวัด โรงเรียน อยู่เป็นประจำ หากจะถามว่าการเกิดขึ้นของโรงโม่หินแห่งนี้มีผลกระทบต่อชุมชนหรือไม่นั้น ยังไม่เกิดขึ้น อาทิการระเบิดหิน จะระเบิดเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ฝุ่นละอองทางเจ้าของโรงโม่ ได้ปรับปรุงมาอย่างสม่ำสมอ
ที่สำคัญโรงโม่หิน ได้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ได้ทำงานในพื้นที่ ไม่ต้องไปทำงานห่างไกล โดยความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว สนับสนุนต่อให้ประทานบัตรโรงโม่หินแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการนำความเจริญมาสู่ชุมชนเช่นกัน