อุบลราชธานี-ผู้ว่าฯอุบลราชธานี แจงจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาทครบแล้ว ด้านการซ่อมที่อยู่อาศัยเสียหายคืบหน้าแล้วร้อยละ 90 ที่เหลือติดปัญหาสร้างที่เดิมไม่ได้ บางแห่งรุกที่หลวง คาดดำเนินการแล้วเสร็จทุกส่วนในสิ้นปีนี้
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อกันยายนที่ผ่านมาว่า เบื้องต้นเงินเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมครอบครัวละ 5,000 บาท ได้จ่ายไปครบทุกครัวเรือนแล้ว แต่ถ้าครอบครัวใดตกหล่นก็สามารถติดต่อประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ พร้อมทั้งยังจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีที่เสียชีวิตเพิ่มเติมพิเศษอีกรายละ 80,000 บาท จำนวน 6 คน
นอกจากนี้ ยังมีเงินบริจาคที่พี่น้องคนไทย ได้บริจาคผ่านศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยประจำจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมียอดเงินบริจาคสูงถึง 8,500,000 บาท จังหวัดได้นำเงินดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ใช้จัดตั้งศูนย์เฝ้าฟังระวังข่าว คอยสอดส่องพี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนที่ 2 จัดซื้อสิ่งของบริจาค ซึ่งจังหวัดได้ตั้งทีมงานสำรวจลงไปแต่ละพื้นที่ว่าประชาชนต้องการและขาดเหลือสิ่งของจำเป็นชนิดใด เพราะพบว่าชาวบ้านแต่ละพื้นที่มีความต้องการสิ่งของแตกต่างกัน เช่น ยารักษาโรค นมเลี้ยงเด็กเล็ก อาหารอ่อนในกลุ่มผู้ป่วยชราไปกว่า 1 ล้านบาทเศษ
สุดท้ายส่วนที่ 3 คือการฟื้นฟู ซึ่งช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งกระทบผลให้บ้านเรือนเสียหายและชาวบ้านต่างขาดรายได้ไม่มีแม้แต่เงินจะซ่อมแซมบ้าน ซึ่งมีบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 20,000 หลังคาเรือน ได้เตรียมแผนฟื้นฟูหลังน้ำท่วม คือฟื้นฟูทางกายภาพ ซ่อมสร้างบ้านเรือนประชาชน ศูนย์ราชการ วัด ตลิ่งริมแม่น้ำ ที่เสียหาย ซึ่งได้เงินงบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอีกประมาณ 200 ล้านบาท โดยหลังประเมินความเสียหายแล้ว หน่วยงานทหาร ภาครัฐ และองค์กรการกุศลได้เข้าช่วยเหลือซ่อมแซมให้สามารถกลับอยู่บ้านได้ตามปกติ คิดเป็นร้อยละ 90
เหลือกลุ่มที่น้ำกัดเซาะหน้าดิน จนปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในที่เดิมไม่ได้ และกลุ่มไปรุกล้ำที่ดินหลวง ซึ่งได้ประสานกรมธนารักษ์ จัดหาที่ดินให้สร้างบ้านใหม่ สุดท้ายเป็นผู้ประสบภัยที่บ้านพังทั้งหลัง อยู่ระหว่างดำเนินการ แต่จะเสร็จทั้งหมดไม่เกินสิ้นปีนี้
นายสฤษดิ์ กล่าวถึงด้านการฟื้นฟูอาชีพ ว่าได้ส่งเสริมและจัดหาอาชีพมารองรับช่วยชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยให้กลับมาตั้งตัวได้โดยเร็ว และได้จ่ายเงินชดเชยเกษตรกรที่ผลผลิตเสียหาย ใช้งบจากกระทรวงเกษตรไปกว่า 200 ล้านบาท และกำลังเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมาจังหวัดสูญเสียรายได้ไปกว่า 3-4 พันล้านบาท
ส่วนแผนการรับมือกับมวลน้ำในอนาคต นายสฤษดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดได้เตรียมแผนการจัดการเส้นทางน้ำ พื้นที่ใดมีถนน หรือโครงสร้างที่ขวางทางน้ำ มีแผนปรับปรุงและสร้างช่องทางให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก จะได้ไม่เกิดน้ำท่วมอีก พร้อมก่อสร้างศูนย์อพยพ เพื่อใช้รองรับผู้อพยพได้ตามมาตรฐาน เพราะจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่รองรับน้ำ จึงต้องมีการเตรียมรับมือหากเกิดน้ำท่วมในอนาคต
ส่วนการรับบริจาคตามเพจต่างๆ จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้เปิดรับบริจาคผ่าน เป็นเรื่องของเอกชนไม่เกี่ยวกับทางจังหวัดแต่อย่างใด