xs
xsm
sm
md
lg

อนาถแท้! ผ่าแล้วซากกวางป่าขุนสถาน พบขยะพลาสติกยัน กกน.เต็มท้องถึง 7 กก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - สัตวแพทย์ลงพื้นที่ตรวจพิสูจน์ซากกวางป่าขุนสถานกินขยะตาย ไร้รอยถูกล่า-พบขยะพลาสติกทั้งถุงดำ-ถุงมือ-ซองเครื่องปรุงบะหมี่ ยัน กกน.เต็มท้องหนักถึง 7 กก. ขณะที่ ผอ.สบอ.13 สั่งทุกหน่วยเร่งรณรงค์ลดละเลิกใช้ถุง-โฟม




ความคืบหน้ากรณีพบซากกวางป่าตายใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน และเมื่อผ่าชันสูตรก็พบขยะพลาสติกจำนวนมากในกระเพาะอาหาร ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้สั่งการให้นายสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับนายต่อพงศ์ จันโทภาส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนสถาน

พบว่าจุดที่พบซากกวาง เป็นป่าสนอยู่ระหว่างสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน และอุทยานแห่งชาติขุนสถาน เป็นพื้นที่ๆที่กวางป่าเจ็บป่วย ถูกสุนัขกัด หรือใกล้ตาย มักจะมาบริเวณนี้ตลอด เป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกวาง ซึ่งในปี 2559 ก็เคยพบซากกวางมานอนตายในสภาพเหมือนกัน คือไม่มีบาดแผลถูกล่า แต่ในท้องพบขยะพลาสติกจำนวน 7 กก. ประกอบด้วยซองกาแฟ ซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติก ถุงดำ ถุงมือยาง ผ้าเช็ดมือ กางเกงในผู้ชาย เชือกฟาง เป็นต้น


นายต่อพงศ์ จันโทภาส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนสถาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จ.น่าน มีกวางมากกว่า 50 ตัว มักจะหากินรอบชุมชนเผ่าม้ง 2 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 32 หมู่บ้าน คือ บริเวณรอบๆ บ้านขุนสถาน และบ้านแสนสุข ต.สถาน อ.นาน้อย จ.น่าน

โดยชนเผ่าม้งมีความเชื่อว่ากวางเป็นบรรพบุรุษ ตามคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า ชนชาวเผ่าม้งเคยถูกหมีในป่าไล่ล่า และหนีไปจนสุดมุมหน้าผาแห่งหนึ่ง กระทั่งมีฝูงกวางที่แตกตื่นวิ่งผ่ากลางระหว่างคนกับหมี ทำให้หมีตกใจหนีไปจนทำให้ชาวม้งรอดชีวิต จึงกลายเป็นความเชื่อที่ว่ากวางเป็นบรรพบุรุษที่คอยปกป้องคนในชุมชน

ดังนั้น ชาวม้งจึงช่วยกันปกป้องโดยใช้พิธีกรรมสาปแช่งคนล่ากวางมานานกว่า 30 ปี ทำให้บริเวณนี้มีกวางป่านี้ขยายพันธุ์ได้มากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่อุทยานแห่งชาติขุนสถานก็ได้จัดชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ Smart Patrol หรือ SP เพื่อติดตามตลอดว่ากวางแต่ละกลุ่มแต่ละฝูงไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่

นายต่อพงษ์บอกว่า ที่ผ่านมาสาเหตุการตายของกวางไม่ได้เกิดจากการล่า แต่เกิดจากอายุที่มาก โดยสังเกตจากฟัน ซึ่งปกติกวางอายุช่วงระหว่าง 11-12 ปี ถือว่าเป็นกวางแก่ เทียบกับคนได้ประมาณอายุ 75 ปี อย่างไรก็ตาม ซากกวางที่พบล่าสุดสันนิษฐานว่ากวางตายจากภาวะทางเดินอาหารอุดตันและอายุมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารพิษในอาหาร และภาวะติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มเติมนำส่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เพื่อรอผลการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง


ด้านนายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ทุกอุทยานให้เฝ้าระวังและเตือนนักท่องเที่ยวให้ทิ้งขยะไว้ในที่ที่ทางอุทยานฯ เตรียมไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติขุนสถานร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน และเครือข่ายชุมชนรอบพื้นที่ นายอำเภอนาน้อย ทำกิจกรรมรณรงค์ลดละเลิกใช้ถุงพลาสติก และโฟมในเขตอุทยานฯ ภายใต้โครงการทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่เมื่อมีกวางมาเสียชีวิต การพิสูจน์ก็มีผลที่ชัดเจนว่าเสียชีวิตเนื่องจากมีขยะในท้องมากจนเกินไป ดังนั้นจึงควรมีมาตรการจัดการเรื่องขยะพลาสติก เป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น เป็นการถือเอาวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส เชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่บริเวณรอบอุทยานฯ ออกมารณรงค์ ช่วยกันเก็บขยะ-จัดการขยะที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่อุทยานฯและรอบอุทยานฯ

ระยะกลาง ตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดแผนในการบริหารจัดการเรื่องขยะของอุทยานแห่งชาติและขยะของชุมชน โดยมีการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน ส่วนระยะยาวต้องมีการให้ความรู้กับนักเรียน พี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขุนสถานให้เห็นผลเสียของขยะพลาสติก หรือให้มีการทำป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รณรงค์ให้หน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลป่าอนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ ลด เลิกใช้ถุงพลาสติกแก้ปัญหามลพิษ ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอกลไกการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single - Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 หน่วยงานภาคสนามในสังกัดได้การรณรงค์ประชาสัมพันธ์งดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว และงดใช้โฟม รณรงค์ในลักษณะนับถอยหลัง ซึ่งจะใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น