เอเอฟพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - กวางป่าถูกพบเสียชีวิตภายในอุทยานแห่งชาติจังหวัดน่าน หลังจากกินขยะเข้าไปในท้องหนักร่วม 7 กิโลกรัม หลังผ่าพิสูจน์ศพต้องตกใจพบมีทั้งถุงขยะ กากกาแฟบด ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าเช็ดมือ และแม้กระทั่งกางเกงใน ผู้ว่าฯจังหวัดน่านเจ้าของพื้นที่ยันไม่ใช่ขยะมาจากในอุทยานแน่นอน
เอเอฟพีรายงานเมื่อวานนี้(26 พ.ย)ว่า เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่า ได้พบกวางป่าอายุ 10 ปีเสียชีวิตภายในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน จังหวัดน่าน ห่างจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือราว 630 กิโลเมตร
และหลังจากผ่าท้องกวางป่าเพื่อชันสูจน์กลับพบว่า มีขยะเต็มท้องหนักร่วม 7 กิโลกรัมอยู่ข้างใน ที่เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตกวางป่าเพศผู้ตัวนี้ เกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 กล่าว
เอเอฟพีชี้ว่า ภายในถุงพลาสติกในท้องกวางมีทั้งกากกาแฟ ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงขยะ ผ้าเช็ดมือ และแม้กระทั่งกางเกงใน ซึ่งสื่อไทยชี้ว่าเป็นกางเกงในผู้ชาย
MGRออนไลน์รายงานก่อนหน้านี้ว่า กวางป่าที่ถูกพบเสียชีวิตนั้นคาดว่าตายมาแล้ว 2 วันก่อนหน้า พบเป็นกวางเพศผู้มีน้ำหนักราว 200 กิโลกรัม อายุ 10 ปี และเมื่อความสูงวัดจากหัวไหล่ 135 เซนติเมตร ขนาดลำตัวยาววัดจากกลางหน้าผากถึงหาง 230 เซนติเมตร
อีกทั้งไม่พบบาดแผลภายนอก ลักษณะซากผอม ขนหลุดร่วงเป็นหย่อมๆ กีบหน้าซ้ายหลุดลักษณะเป็นแผลเป็น เมื่อเปิดผ่าอวัยวะภายในพบความผิดปกติที่ไต หัวใจ ปอด ในกระเพาะอาหารส่วนรูเมน
เจ้าหน้าที่ทำการสันนิษฐานว่า กวางป่าตัวนี้น่าจะเสียชีวิตเนื่องมาจากภาวะทางเดินอาหารอุดตัน และโรคชรา
ด้านเกรียงศักดิ์แสดงความเห็นว่า “การเสียชีวิตของกวางป่าถือเป็นโศกนาฎกรรมอีกครั้ง” และเสริมว่า “มันแสดงให้เห็นว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการลด..การใช้ถุงพลาสติกแบบที่ใช้ครั้งเดียว” พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศน์ให้นำมาใช้แทน
ในขณะเดียวกันผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเจ้าของพื้นที่ วรกิตติ ศรีทิพากร จากการรายงานของสื่อไทย ออกมาโต้ว่า ขยะในท้องกวางป่าไม่ใช่มาจากในอุทยานแห่งชาติขุนสถานแน่นอน
โดยเขาชี้ไปถึงระบบการจัดเก็บและการทำลายขยะของอุทยาน แต่เชื่อว่าเป็นขยะที่มาจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้อุทยานที่นักท้องเที่ยวหรือชาวบ้านทิ้งรอบๆหมู่บ้านมากกว่า
การเสียชีวิตของกวางป่าที่มาจากการกินขยะครั้งนี้ถือเป็นตัวที่ 2 ที่เสียชีวิตภายในอุทยานแห่งชาติขุนสถาน และหลังเกิดเหตุสลด ทางอุทยานฯได้มีคำสั่งห้ามการใช้พลาสติกภายในอุทยาน
โดยในรายงานของสื่อไทย เกรียงศักดิ์กล่าวในเรื่องนี้ว่า “นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชื่นชมธรรมชาติของอุทยานฯ จะไม่ให้นำวัสดุเหล่านี้เข้ามาในพื้นที่โดยเด็ดขาด ตลอดจนโครงการนำขยะคืนถิ่น เมื่อนำเข้ามาแล้วก็ต้องนำออกไป สำหรับพื้นที่บางจุดก็จะมีการรับฝากวัสดุ รวมถึงภาชนะพลาสติกพวกนี้อยู่แล้ว แต่ก็จะมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ตรวจตรามากขึ้น”