xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรม-รีสอร์ตรุกป่าเพชรบูรณ์นับพันมีเฮ คทช.จ่อชงใช้ ม.16 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ ปลดล็อกแทนจับกุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบูรณ์ - อนุกรรมการ คทช.จังหวัดฯ ลงมติชงปลดล็อกโรงแรมรีสอร์ตรุกป่า-ที่สาธารณะ-ส.ป.ก.กว่า 1,000 แห่ง เห็นควรใช้ ม.16 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ อ้างหากจับกุมดำเนินคดีทำให้ยุ่งยากและไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม


วันนี้ (20 พ.ย.) นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์ (คทช.จังหวัด) ซึ่งมีการหยิบยกเรื่องการรวบรวมข้อเท็จจริง สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขการประกอบธุรกิจโรงแรมหรือธุรกิจสถานที่พักตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 ขึ้นมาพิจารณา

ผลปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นควรนำเสนอ คทช.พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้กรมป่าไม้สามารถพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงแรมหรือรีสอร์ตที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ที่ได้มาจดแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 วันที่ 12 มิถุนายน 2561 และมายื่นขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าไม้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยดำเนินการทำนองเดียวกับราษฎรที่ได้รับการแก้ไขเรื่องที่อยู่อาศัยและทำกินตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เห็นควรให้ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในปีที่ใกล้เคียง ในการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินเช่นเดียวกับราษฎร ในการนี้ กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎกระทรวง ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559

สำหรับจำนวนโรงแรมที่มาจดแจ้งในเบื้องต้นและเห็นควรนำเสนอต่อ คทช. ได้แก่ อ.เขาค้อ 457 แห่ง, อ.หล่มเก่า 150 แห่ง, อ.หล่มสัก 5 แห่ง, อ.น้ำหนาว 18 แห่ง, อ.วังโป่ง 2 แห่ง, อ.ชนแดน 2 แห่ง, อ.บึงสามพัน 6 แห่ง, อ.เมือง 30 แห่ง


นายสืบศักดิ์ยังได้กำชับให้ทุกอำเภอตรวจสอบว่าโรงแรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชนิดใดภายในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ หลังมีการรายงานว่าโรงแรมรีสอร์ตเหล่านี้อยู่ในเขตพื้นที่ป่า, ที่ดินสาธารณประโยชน์, เขตห้ามล่าฯ, ส.ป.ก. โดยให้แยกประเภทให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ทำหนังสือแจ้งหน่วยงานต่างๆ เพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธาน คทช.ผ่านเลขานุการ คทช., อธิบดีกรมป่าไม้, อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีอัยการภาค 6, ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นควรให้ดำเนินการในส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดแจ้ง โดยให้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.และกฎหมาย ให้อำเภอดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายโดยด่วน และในกรณีที่ตรวจสอบแล้วไม่พบผู้ประกอบการหรือเจ้าของ ให้ทำการตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยป่าไม้, กฎหมายโรงแรม, กฎหมายควบคุมอาคารโดยเคร่งครัดทุกราย


ด้านนายเวทิน พุ่มอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) เพชรบูรณ์ ให้เหตุผลถึงการนำเสนอตามแนวทางดังกล่าวว่า ในการแจ้งการครอบครองตามคำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 หากดำเนินการบังคับใช้กฎหมายก็คงจะยุ่งยากและต้องขึ้นศาลกันเป็นที่สนุกสนานแน่

“จริงๆ แล้วรัฐบาลให้ความสำค้ญ และมีแนวทางให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้ใช้สิทธิและเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยหรือก่อสร้างดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จากการตรวจสอบแล้วเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้กฎหมายป่าสงวนฯ จึงเห็นสมควรเสนอต่อ คทช.เพื่อให้ ครม.เห็นชอบ ให้กรมป่าไม้อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมรีสอร์ตอยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้และได้มาจดแจ้งตามคำสั่งที่ 6/2562 และมายื่นคำขอเพื่อขอใช้ทำประโยชน์ ให้กรมป่าไม้สามารถพิจารณาให้ได้”

ซึ่งกรณีการเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าก่อนได้รับอนุญาตต้องถูกจับกุมดำเนินคดีและบังคับคดีเรียบร้อยถึงจะสามารถยื่นได้ แต่ถ้าจับกุมดำเนินคดีก่อนก็คือการรื้อ ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องเสนอ ครม.แต่อย่างใด เพราะจับเรียบร้อยรื้อเสร็จแล้วมาขออนุญาตสร้างใหม่ ไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งเกิดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรง และทางอ้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น