xs
xsm
sm
md
lg

แห่ปลูกอ้อยขยายตัว น้ำชลประทานขยับตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลุ่มน้ำพรม-น้ำเชิญ จ.ชัยภูมิ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ทั้งที่สองลุ่มน้ำร่วมแห่งนี้ใช้น้ำจากแหล่งเดียวกันคือเขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์ ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำเพื่อช่วยเสริมเสถียรภาพของกระแสไฟฟ้าภาคอีสาน ปิดกั้นแม่น้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นอกจากใช้ผลิตไฟฟ้าแล้วยังใช้เพื่อการเกษตร โดยแยกเป็น 2 สาย คือ แม่น้ำพรม กับแม่น้ำเชิญ

แม่น้ำเชิญอยู่ด้านบน จากเขื่อนลงมาก็ไหลจากซ้ายไปขวา ส่วนแม่น้ำพรมไหลลงสู่ทิศใต้ เข้าเขต อ.เกษตรสมบูรณ์ ไปออก อ.ภูเขียว แล้วบรรจบแม่น้ำเชิญอีกครั้งหนึ่ง ก่อนไหลออกไป จ.ขอนแก่น

สำหรับลุ่มน้ำพรม พื้นที่ได้รับประโยชน์ผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ คือ อ.เกษตรสมบูรณ์ ประมาณ 45,000 ไร่ เดิมทีในพื้นที่ทำนา ต่อมาขยายทำไร่อ้อย จึงมีพื้นที่ต้องการน้ำเพื่อการเกษตรจริงๆ ประเมินว่ามากถึง 60,000-70,000 ไร่ โดยเฉพาะกระแสปลูกอ้อยที่ราคาดีมาแรง บวกกับท้ายของแม่น้ำพรมมีโรงงานน้ำตาลที่ อ.ภูเขียว ซึ่งเป็นแหล่งปลูกใหญ่อยู่แล้ว จึงทำให้เกษตรกรใน อ.เกษตรสมบูรณ์ ปลูกอ้อยด้วยและความต้องการน้ำก็เพิ่มเป็นเงา

“ความต้องการน้ำในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ก็ยังไม่พอจากการขยายตัวของพื้นที่การเกษตร ท้ายน้ำพรมบางตำบลก็ขาดแคลน ชาวบ้านจึงอยากได้อ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น” นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวหลังลงสำรวจพื้นที่ลุ่มน้ำพรม บริเวณเขื่อนทดน้ำพรม

เป้าหมายของชาวบ้าน คือ อ่างเก็บน้ำห้วยซาง ที่จะช่วยเรื่องอุทกภัยและมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งเป็นการพึ่งพาตัวเองได้เต็มตัว เพราะเขื่อนจุฬาภรณ์ยังมีภาระผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งแบ่งน้ำให้ลุ่มน้ำเชิญด้วย ซึ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงมาก การมีอ่างฯ ห้วยซาง ความจุ 11 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าจะเป็นทางออกที่ดี จากการสำรวจความต้องการพบว่าส่วนใหญ่เอาด้วย ยกเว้นเพียง 2-3 รายเท่านั้น

แผนการของกรมชลประทาน นอกจากอ่างฯ ห้วยซางแล้ว ยังวางแผนศึกษาศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนบน ความจุ 10.50 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ห้วยตากฟ้าตอนล่าง 24.28 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ห้วยทิก ความจุ 7.32 ล้าน ลบ.ม. ทั้ง 3 อ่างล้วนอยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนอ่างฯ ห้วยกระแหล่ง 4.99 ล้าน ลบ.ม. อยู่ด้านใต้ไกลออกไปจากอ่างฯ อื่นๆ แต่อยู่ในพื้นที่ อ.เกษตรสมบูรณ์ ด้วยกันทั้งหมด

เท่าที่ประเมินด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจสังคมและการมีส่วนร่วม ด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พบว่า อ่างฯ ห้วยซาง มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 71.2% ตามด้วยอ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนบน 6715% อ่างฯ ห้วยกระแหล่ง 64.50% และอ่างฯ ห้วยทิก และอ่างฯ ห้วยตาดฟ้าตอนล่าง 54.05% และ 53.55% ตามลำดับ

จากการประชุมหารือร่วมระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ กับคณะกรมชลประทาน โดยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี พบว่าชาวบ้านต้องการอ่างฯ ห้วยซาง ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้ และมีความพร้อมก่อสร้าง เพราะพื้นที่ไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ และมีผู้สนับสนุนมากมาย

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำพรมยังต้องพิจารณาเรื่องปริมาณการใช้น้ำและแหล่งน้ำต้นทุน การศึกษาศักยภาพของอ่างฯ ทั้ง 5 โครงการดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้น ในอนาคตจะต้องศึกษาโดยละเอียด และสภาพการเพาะปลูกได้แปรเปลี่ยนจากนาข้าวเป็นไร่อ้อยจำนวนมาก ทำให้ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภูเขียว กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลที่มีความสำคัญต่อการส่งออกของประเทศไทย

“ในประเด็นของโรงงานน้ำตาลที่ต้องการน้ำสำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกไร่นั้น กำลังพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมกับกรมชลประทานอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมสำหรับทุกฝ่าย เพราะไม่ใช่เกษตรกรเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากน้ำชลประทาน แต่โรงงานก็ได้รับประโยชน์จากผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นด้วย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น