xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิซิดเคอร์ฯ MOU ร่วม มข.-ไอดีไดรฟ์พัฒนาระบบจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(กลาง) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล (ซ้าย) นางสุทธิ์สมร แสงสุรศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บ.ไอดี ไดรฟ์ฯ (ขวา) ศ.เกียรติคุณ พญ.จันทรา เหล่าถาวร ประธานมูลนิธิซิดเคอร์-เฟอร์แคป
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มูลนิธิซิดเคอร์ฯ ร่วม ม.ขอนแก่น และ บ.ไอดี ไดรฟ์ฯ ลงนาม MOU พัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ระบบดิจิทัล ดัน มข.ต้นแบบมาตรฐานระดับนานาชาติและให้ไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์อย่างเป็นรูปธรรมและสอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุมชั้น 1 อาคารเวชวิชาคาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ระหว่างมูลนิธิ ซิดเคอร์-เฟอร์แคป-มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และบริษัทไอดี ไดรฟ์ จำกัด โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของ ม.ขอนแก่นเพื่อเป็นต้นแบบให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ

โดยสามารถนำไปปรับเปลี่ยนเป็นโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สำหรับสถาบันภาคีเครือข่ายที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิซิดเคอร์-เฟอร์แคปและสามารถเชื่อมต่อกับระบบโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันภาคีต่างๆ ได้ในอนาคตและมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์




ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.จันทรา เหล่าถาวร ประธานมูลนิธิซิดเคอร์-เฟอร์แคป กล่าวว่า การคิดค้นผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และด้านสุขภาพจำเป็นต้องนำไปทดสอบกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่เกี่ยวข้องอย่างมีจริยธรรมและต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์เพื่อเป็นหลักประกันในความปลอดภัยต่อผู้เข้ารับการวิจัยก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ มูลนิธิฯเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

แต่จากการประเมินการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของสถาบันต่างๆทั้งในและต่างประเทศกว่า 200 สถาบัน พบว่าการทำงานของคณะกรรมการฯส่วนใหญ่ประสบปัญหาการทำงาน เนื่องจากขาดการสนับสนุนในเชิงระบบ


อย่างไรก็ตาม จากการที่มูลนิธิฯได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการทำงานของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของ ม.ขอนแก่น ให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยให้ ม.ขอนแก่นเป็นสถาบันหลักในการบริหารจัดการฝึกอบรมกรรมการและเจ้าหน้าที่ให้ตอบสนองต่อการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัยและจากการที่มูลนิธิฯ ได้มีโอกาสเสนอแนวคิดให้กับผู้บริหารบริษัท ไอดี ไดรฟ์ฯ ในการพัฒนาระบบปฏิบัติการของคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ในลักษณะโปรแกรมสารสนเทศดิจิตอลที่สามารถบริหารจัดการงานด้านจริยธรรมการวิจัยฯได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ปรากฏว่าทางบริษัท ไอดี ไดรฟ์ฯ เองก็มีความประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าว ในที่สุดจึงนำมาสู่การทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้


ด้านนางสุทธิ์สมร แสงสุรศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอดี ไดรฟ์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ทางบริษัทฯ ยินดีอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งจากภาคเอกชนในการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ รวมทั้งการผลิตนวัตกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์อันจะนำมาสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ขอขอบคุณมูลนิริชิดเดอร์-ฟอร์แคป เป็นอย่างมาก ที่เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ให้บริษัทของเราเป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในลักษณะโปรแกรมสารสนเทศดิจิทัลและขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ทำให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสเข้ามาพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นโปรแกรมต้นแบบที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับนานาชาติ” นางสุทธิ์สมรกล่าวย้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น