“กรมบัญชีกลาง” เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน e-GP โดยการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบหลักประกันของผู้ประกอบการ การออกหนังสือรับรองสินเชื่อ เพื่อใช้ประกอบในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ
น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.63 กรมบัญชีกลางได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อสนับสนุนนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพระบบงานของหน่วยงานในกระทรวงการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดขั้นตอนการทำงาน ตอบสนองผู้รับบริการได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมรัฐบาลยุคไทยแลนด์ 4.0
ในส่วนของกรมบัญชีกลางได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการดำเนินงานของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) แบ่งเป็น 2 โครงการย่อยได้แก่ 1.e-Letter of Guarantee : e-LG เป็นการจัดทำหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์โดยให้ผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์กับธนาคารต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ค้ากับภาครัฐ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยลดขั้นตอนดังกล่าว และเป็นการเพิ่มความสะดวกและลดการจัดทำเอกสารที่เป็นกระดาษ อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของหลักประกันที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ได้อีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบระบบร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 22 แห่ง ที่อยู่ในชุมชนบล็อกเชน (Blockchain Community) คาดว่าจะสามารถให้บริการ e-LG จากทุกธนาคารผ่านระบบบล็อกเชนที่พัฒนาในระบบ e-GP ได้ในเดือน มิ.ย.63
และ 2.e-Credit Confirmation เป็นการขอออกหนังสือรับรองสินเชื่อด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะใช้ประกอบในการขอขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการ และในระยะยาวจะพัฒนาต่อยอดในการจัดลำดับ Rating ของผู้ประกอบการตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ ทำให้ช่วยลดภาระของผู้ประกอบการในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ สำหรับการขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และระบบการประเมินคุณภาพแบบบูรณาการของผู้ประกอบการที่ร่วมงานกับภาครัฐได้อีกด้วย โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Credit Confirmation) ผ่านระบบ e-GP ได้ในเดือน ธ.ค.62
นอกจากนี้ โฆษกกรมบัญชีกลาง ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่มีความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศแล้ว ยังช่วยลดขั้นตอนการทำงานและปริมาณการใช้กระดาษในการทำธุรกรรมต่างๆ อันจะช่วยสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย