ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.ขอนแก่น เจ้าภาพจัดประชุมวิชาการเอเปก ครั้งที่ 14 “ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา” เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากทั่วโลกร่วมกันออกแบบจัดการเรียนการสอนในอนาคตรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
วันนี้ (18 พ.ย. 62) ที่ห้องประชุม 201 สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน (IRDTP) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประชุมวิชาการ 14th APEC-Khon Kaen International Conference 2019 "APEC MEETING IN DIGITAL ERA: AI FOR EDUCATION" (ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา) โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดประชุม มีผู้เชี่ยวชาญด้าน Curriculum Specialist และ Al for Education จากสมาชิก APEC เข้าร่วมมากว่า 10 ประเทศ
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ต่อไปนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษามากขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันในปัจจุบัน และอนาคตจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น จึงต้องเตรียมทรัพยากรบุคคลให้เข้าใจเรื่อง AI เริ่มตั้งแต่การจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปยังระดับประถมศึกษา และสืบเนื่องไปยังระดับมัธยมศึกษา
การประชุมวิชาการนานาชาติ “การประชุมเอเปกในยุคดิจิทัล : ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ครั้งที่ 14 นี้ ประโยชน์ที่ได้คือพัฒนาการทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะหัวข้อที่ได้หยิบยกเรื่องปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาข้อสรุปว่าเราจะจัดการศึกษาให้เด็กไทยพร้อมที่จะมีความรู้เรื่องปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างไร
ด้าน รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการจัดประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมที่จัดต่อเนื่องมา 14 ปี โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยร่วมมือกันด้านทรัพยากรมนุษย์ มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ University of Tsukuba เป็นกลไกทำงาน มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม
ปัจจุบันมีชุดโครงการทำงาน AI for Education เพราะสังคมนับจากนี้ไป คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ กับมนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ระบบการศึกษาในโรงเรียนของเราทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งทางการศึกษานับจากนี้ไปจะหลีกหนีการทำความเข้าใจเรื่อง AI ได้ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากทั่วโลก ทั้งนักออกแบบหลักสูตร, AI specialist มาร่วมกันเพื่อจะดูทิศทางว่าต่อไปการเรียนการสอนของโรงเรียนจะเดินหน้าไปทิศทางใด
ด้าน Prof. Masami lsoda University of Tsukuba, Japan กล่าวว่า โครงการประชุมเอเปกในยุคดิจิทัล : ปัญญาประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ครั้งที่ 14 เริ่มต้นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับ University of Tsukuba, Japan ที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาโดย MRT ที่จะให้เด็กใช้ในการเรียนเรื่องหุ่นยนต์หรือเรื่อง AI แต่เราได้ทำเป็นภาษาไทย เพื่อให้เด็กไทยได้คิดโดยใช้ภาษาไทย ถือเป็นผู้นำการทำซอฟต์แวร์โดยความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจ