ร้อยเอ็ด - สภาทนายความ จ.ร้อยเอ็ดยื่นมือช่วย 2 วัยรุ่นเหยื่อแก๊งล่อซื้อจับกระทงลายการ์ตูนลิขสิทธิ์รีดทรัพย์และคุมขัง 1 คืน เผยจ่อแจ้งความกลับ 3 ข้อหา กรรโชกทรัพย์-ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น-ทำให้ผู้อื่นถูกจับกุมคุมขังทั้งยังเป็นเยาวชน ด้าน ตร.สภ.ธวัชบุรี เรียกสอบเพิ่ม 2 ผู้ต้องหาถูกล่อซื้อ ผกก.เผยต้องสอบอีกหลายฝ่ายและตรวจสอบข้อเท็จจริงใบมอบอำนาจลิขสิทธิ์
วันนี้ (7 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี นางสาวมาริสา ภายะโส อายุ 24 ปี และ นางสาวสุกัญญา กัณหารัตน์ อายุ 16 ปี สองสาววัยรุ่นชาวบ้านสีแก้ว ต.สีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ถูก นายประจักษ์ โพธิผล บ้านเลขที่ 33 หมู่ 1 ต.หนองหาร อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พร้อมพวกอีก 2 คน ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจ รับช่วงลิขสิทธิ์ ของ บริษัท พอส์ อิงค์ จำกัด และ บริษัท ซาน เอ็กซ์ จำกัด ร่วมกันทำการล่อซื้อกระทงที่มีรูปภาพการ์ตูนการ์ฟิลด์ และรีลัคคุมะ 30 อัน แล้วแจ้งตำรวจจับกุมดำเนินคดี ด้วยการนำตัวทั้ง 2 คน พร้อมกระทง 30 อัน ส่งมอบแก่ ร.ต.อ.วัฒนา วงค์อินตา รองสารวัตรสอบสวน สภ.ธวัชบุรี สารวัตรเวร ดำเนินคดีในข้อหาจำหน่ายกระทงละเมิดลิขสิทธิ์ และถูกคุมขังที่ สภ.ธวัชบุรี 1 คืน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2652 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดพนักงานสอบสวน สภ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ได้เรียกตัววัยรุ่นทั้ง 2 คนมาทำการสอบสวนปากคำเพิ่มเติมเพื่อสรุปสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่งการเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในครั้งนี้ได้มี นายพงศกร ตั้งกิตติ์ตระกูล ประธานสภาทนายความจังหวัดร้อยเอ็ด นำตัว นางสาวมะลิสา ภายโส และนางสาว สุกัญญา กันหารัตน์ พร้อมผู้ปกครองและญาติ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งนำหลักฐาน ของผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้แทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการทักแชตสั่งซื้อกระทง และล่อซื้อ เครื่องติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์ ที่ทำการพรินต์ภาพและข้อความการสนทนามาประกอบสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.ธวัชบุรีด้วย
การสอบสวนปากคำ ซึ่งมีประธานสภาทนายความนั่งร่วมรับฟังการสอบสวนปากคำในครั้งนี้ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น และเดินทางกลับ
นายพงศกรณ์ ตั้งกิตติ์ตระกูล ประธานสภาทนายความจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จากการศึกษาข้อเท็จจริงตามสำนวนการสอบสวนของตำรวจ และหลักฐานพยานเอกสารหรือข้อความที่ได้จากการพูดคุยโทรศัพท์ของเด็กที่ถูกแจ้งจับ มีลักษณะของการสั่งทำกระทงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วได้ทำการแจ้งตำรวจจับกุม พร้อมกับได้เรียกรับเงิน 50,000 บาท เข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ หลังจากการล่อซื้อสั่งให้ทำกระทงแล้วจับกุม
พร้อมกันนั้นมีการอ้างเอกสารมอบอำนาจลิขสิทธิ์ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการแอบอ้างโดยไม่ได้มีการมอบอำนาจจริง ก็จะแจ้งความในข้อหาแจ้งความเท็จ และข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ เพราะพบข้อเท็จจริงว่าผู้อ้างว่าได้รับมอบอำนาจได้มีการข่มขู่ขอเงินเรียกค่าเสียหายต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือว่าในส่วนของตำรวจสามารถใช้เป็นพยานได้ ถือว่าเป็นผู้กล่าวหาหลักฐานอันเป็นเท็จ
เราจะดำเนินคดีในข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ตามที่ได้ขอเงินเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ซึ่งมีหลักฐานชัดเจน และการใช้เอกสารเท็จมาแจ้งความดำเนินคดีต่อเด็ก 2 คนก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กทั้ง 2 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังมีการแจ้งพนักงานสอบสวนทำการจับกุมคุมขังเด็กที่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีเพื่อดำเนินคดี โดยต้องมีการแจ้งสหวิชาชีพมาร่วมฟังการสอบสวนด้วย กลับไม่มีการประสานสหวิชาชีพมาร่วมสอบสวนปากคำ แล้วถูกนำเข้าห้องขังก็ถือว่าเป็นความผิด ที่ต้องมีคนออกมารับผิดชอบ
ตนจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแลในนามสภาทนายความจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้เด็กได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่อ้างลิขสิทธิ์เท็จ หรือไม่ได้รับมอบอำนาจมาจริง ก็จะให้พนักงานสอบสวนทำเรื่องตรวจสอบ และเรียกตัวผู้อ้างลิขสิทธิ์มาสอบสวนปากคำและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าได้มีการรับมอบอำนาจมาจริงหรือไม่จากต้นสังกัดมาแสดงประกอบการแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งหากไม่มีจริง และเป็นการแอบอ้าง และไม่มีการมอบอำนาจมาโดยถูกต้องแล้วมาล่อซื้อ กลั่นแกล้ง มาจับกุม ก็เข้าข่ายกลั่นแกล้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมาล่อซื้อสั่งทำแล้วแจ้งจับก็ยังเป็นการกระทำผิดในข่ายของการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ และยิ่งไม่ได้มีการมอบอำนาจมาจริงก็ยิ่งไม่สามารถมาแจ้งความร้องทุกข์จับกุมใครได้
ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องมีการนำสืบให้ชัดเจนทุกด้าน เช่น การทำกระทงที่มีเครื่องหมายผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ หากไม่ได้ทำขาย แต่ทำเพื่อลอยเอง ไม่ได้จำหน่ายก็ไม่ผิด และจากการรับทราบรายละเอียดจากผู้กำกับการ (ผกก.) ค่อนข้างมั่นใจว่ามีความไม่ชอบธรรม เพราะผู้สั่งเป็นผู้ให้ทำกระทงผิดลิขสิทธิ์ ถือได้เลยเป็นการหาหลักฐานอันมิชอบมากลั่นแกล้ง และเป็นการสั่งใช้ให้ผู้ต้องหาทำผิด จึงเป็นเรื่องมิชอบ ในการทำพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้องมาก่อให้เป็นการกระทำความผิด ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะเอาผิดเด็กในกรณีนี้ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้องก็จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ แล้วผู้ถูกกล่าวหาสามารถจะดำเนินคดีกลับได้ เพราะไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง และหากคดีนี้พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องจะมีการดำเนินคดีต่อพวกที่มากล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา คือ 1. ในข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ 2. ในข้อหาละเมิดสิทธิบุคคลด้วยการนำเอกสารอันเป็นเท็จมากลั่นแกล้งรังแก และ 3. คือกรณีที่ไม่มีอำนาจตามลิขสิทธิ์ที่มีอยู่จริง ทำให้ผู้อื่นถูกจับกุมคุมขัง และโดยเฉพาะทำให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องถูกจับกุมคุมขังไป 1 คืน ก็สามารถฟ้องกลับเพื่อเรียกร้องความเสียหายได้ ซึ่งสภาทนายความจะติดตามดูแลเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกกระทำจนถึงที่สุดต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางด้าน พ.ต.อ.วันชัย วินทะสมบัติ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (รอง ผบก.ภ.จว.) ร้อยเอ็ด ได้เดินทางไปพบ พ.ต.อ.ไกร สอนสี ผู้กำกับการ (ผกก.) และเรียกตรวจสอบสำนวนการสอบสวน และข้อเท็จจริงของเหตุที่เกิดขึ้น ที่ห้องประชุมชั้น 2 ของ สภ.ธวัชบุรี เป็นเวลา 1 ชั่วโมงเศษ ก่อนที่จะเดินทางกลับ โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ แก่ผู้สื่อข่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ไกร สอนสี ผกก.สภ.ธวัชบุรี กล่าวแต่เพียงว่า ทุกอย่างยังไม่จบ เพราะยังต้องเรียกสอบอีกหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องมีการเรียกสอบผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีอ้างว่าได้รับมอบอำนาจด้านลิขสิทธิ์ให้ชัดเจนก่อน และสำหรับในส่วนของเอกสารที่อ้างว่าเป็นการรับช่วงมอบอำนาจลิขสิทธิ์มาแจ้งจับผู้ขายกระทง ซึ่งมีการนำมาอ้าง 2 บริษัทนั้น จะทำเรื่องไปเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถสรุปในข้อเท็จจริงได้ว่าจะดำเนินการอย่างใดต่อไป