xs
xsm
sm
md
lg

เจออีก! สาวท้องโดนล้อมจับเลโก้โดราเอมอนกลางห้างดังนครสวรรค์ พ่อวิ่งยืมเงิน 2.5 หมื่นช่วยเคลียร์ ทั้งที่ลิขสิทธิ์หมดอายุแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครสวรรค์ - เหยื่อโดนจับลิขสิทธิ์โดราเอมอนโผล่อีกราย คราวนี้เป็นสาวนครสวรรค์ท้อง 8 เดือนขายเลโก้ออนไลน์ ถูกล่อซื้อแล้วล้อมจับกลางห้างดัง-พาขึ้นโรงพัก พ่อรู้ข่าวโร่ยืมเงินเพื่อนเคลียร์ให้ 25,000 บาท ทั้งคำพิพากษาศาลฎีกาชี้ชัดลิขสิทธิ์โดราเอม่อนหมดอายุตั้งแต่ปี 2537 แล้ว




น.ส.กนกลักษณ์ ถาวรประภาสวสวัสดิ์ อายุ 29 ปี พนักงานจ้างเหมาของส่วนราชการแห่งหนึ่ง ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครสวรรค์ วานนี้ (6 พ.ย.) เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยคดีความ หลังจากถูกกลุ่มบุคคลอ้างตัวว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนโดราเอมอนเข้าจับกุมสินค้าตัวต่อเลโก้โดราเอมอน 21 กล่อง

ซึ่งตัวแทนที่อ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนไปจับกุมตัวที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครสวรรค์ พร้อมกับยึดของกลางไว้เป็นหลังฐาน แล้วแจ้งความดำเนินคดีต่อ น.ส.กนกลักษณ์เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในข้อหาได้มีการทำซ้ำดัดแปลงมาจากงานสร้างสรรค์ศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม ซึ่งเป็นผลงานโดราเอมอน โดยการนำไว้ขาย จนทำให้เกิดความเสียหาย

น.ส.กนกลักษณ์เล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นลูกจ้างเหมาจ่ายของหน่วยงานแห่งหนึ่ง มีเงินเดือน 9,000 บาท แต่ก็อยากมีรายได้พิเศษจึงได้ขายตัวต่อเลโก้เฉพาะแค่ทางออนไลน์ตามที่มีลูกค้ามาสั่งของเท่านั้น และของที่นำมาขายต่อตนจะสั่งซื้อมาจากเว็บซื้อสินค้าออนไลน์ชื่อดัง เมื่อตนได้สินค้ามาจะนำมาโพสต์ขายตามเฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะเกี่ยวกับการทำธุรกิจขายของ

กระทั่ง 30 ตุลาคม ตนได้รับการติดต่อจากบุคคลใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nung Ning มาสั่งซื้อสินค้าเลโก้รูปตัวโดราเอมอน จำนวน 20 ชุด บรรจุมาเป็นกล่อง โดยคิดราคาเขากล่องละ 60 บาท เป็นจำนวนเงิน 1,200 บาท ซึ่งจะมีกำไรจากการขายกล่องละ 10 บาทเท่านั้น และในวันที่เขาสั่งของเขาจะเจาะจงว่าจะต้องเป็นรูปตัวโดเรมอนอย่างเดียว โดยไม่สนใจตัวต่อเลโก้รูปอื่น ทั้งที่ตนก็แนะนำอยากให้ลูกค้ามีสินค้าที่หลากหลาย แต่ก็ไม่เคยได้เอะใจ

“ยอมรับว่าขายของทางนี้อยากมีรายได้เสริมมาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ประกอบกับตอนนี้ก็ตั้งครรภ์ได้ 8 เดือนจึงต้องหารายได้เสริมเก็บไว้เพื่อคลอดลูก”

น.ส.กนกลักษณ์เล่าต่อว่า ในวันที่ถูกสั่งซื้อสินค้าตัวต่อรูปโดราเอมอนก็ไม่มีของอยู่ในสต๊อก แต่ก็ได้ตัดสินใจตอบตกลง พร้อมสั่งซื้อเลโก้รูปตัวโดราเอมอนจากเว็บซื้อสินค้าออนไลน์ชื่อดังทันที และมีการตอบกลับไปถึงผู้ที่มาสั่งซื้อว่าวันที่ 3 พฤศจิกายนจะนำสินค้าที่สั่งซื้อไปส่งให้ แต่ผู้สั่งซื้อบอกว่าขอเลื่อนมาเป็นวันที่ 5 พฤศจิกายน จึงรอจนถึงวันที่นัดหมายให้ไปส่งของที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์

“พอนำของไปส่งก็มีชายที่ระบุตัวเป็นผู้สั่งซื้อ ลักษณะใส่แว่น รูปร่างผอมสูง ผิวสองสี เดินเข้ามารับสินค้า พร้อมกับขอตรวจสอบของที่สั่งซื้อ และเมื่อเปิดกล่องสินค้าออกมาดูก็พบว่ามีชายฉกรรณ์ล้อมหน้าล้อมหลังดิฉัน 5-6 คน มาแสดงตัวว่าดิฉันขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องถูกจับ”


น.ส.กนกลักษณ์เล่าต่อว่า ตนตกใจมากจนทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ร้องไห้ มึนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปหมด ทั้งที่ควรจะต้องเป็นวันที่ดีใจที่ขายของได้ แต่กลับกลายเป็นวันที่น่ากลัว หลังจากที่ลูกค้าซึ่งอ้างเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์โดราเอมอนจับกุม ก็มีตำรวจ 2 นายมานำตัวตนไปที่โรงพัก

เพื่อให้ผู้อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์โดราเอมอน คือ พิพล โตต้นติกุล ระบุสังกัดจาก บริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับทีมงานอีก 3 คน มาแจ้งข้อกล่าวหาตนฐานได้มีการทำซ้ำดัดแปลงมาจากงานสร้างสรรค์ศิลปกรรม ลักษณะงานจิตรกรรม ซึ่งเป็นผลงานโดราเอมอน โดยการนำไว้ขาย จนทำให้เกิดความเสียหาย โดยมีค่าปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท

ซึ่งตนไม่มีเงินเก็บถึงขนาดนั้น และจะยอมให้เป็นคดีอาญา ยอมติดคุก เพราะตนไม่อยากจะไปขอพ่อแม่ พร้อมกับพยายามหาทางเช็กทุกช่องทางว่าสินค้ารูปโดราเอมอนละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่ตนไม่แน่ใจ เนื่องจากดูจากตามข่าวบอกว่าไม่มีลิขสิทธิ์แล้ว แต่กลุ่มตัวแทนลิขสิทธิ์เข้ามาล้อมแบบกดดันว่าสิ่งที่จับเป็นไปตามกฎหมายที่ถูกต้อง

ขณะที่ถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพัก ตนโดนกดดันรอบด้านทุกทาง และคิดว่าคน 3-4 คนที่มาล้อมต้องมีตำรวจอยู่ด้วย จึงได้พูดคุยกับหนึ่งในทีมตัวแทนลิขสิทธิ์ที่คิดว่าเขาเป็นตำรวจ ซึ่งดูมีท่าทีว่าเป็นคนใจดี ก็ได้รับคำตอบว่ามีเท่าไหร่ก็เคลียร์กันไปจะได้จบ แต่ตนก็บอกว่าไม่มี จนสุดท้ายพ่อตนทราบข่าวจากแฟนว่าตนถูกจับ จึงรีบเดินทางมาไกล่เกลี่ย พร้อมกับตกลงยินยอมว่าจะจ่ายเงินให้ 25,000 บาท เพื่อไม่ให้ดำเนินคดีต่อตน แลกกับการที่ตนจะต้องมีอนาคตในการบรรจุเข้ารับเป็นพนักงานประจำ

“พ่อยอมไปติดต่อขอยืมเงินเพื่อนๆ มาจ่ายให้ โดยโอนผ่านตู้เอทีเอ็มแล้วมาเบิกให้เห็นต่อหน้าต่อตา เพื่อชดใช้ให้กับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ ซึ่งดิฉันรู้สึกเจ็บปวดใจมาก เสียทั้งกำลังใจ เสียทั้งน้ำตา ดิฉันแค่ต้องการหารายได้เสริม ขายของในราคากำไรเพียงแค่น้อยนิดมาเก็บไว้ ยังต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้อีก”

น.ส.กนกลักษณ์เล่าอีกว่า หลังจากรอดพ้นการถูกจับกุมเพราะเคลียร์เงินกันด้วยราคา 25,000 บาทแล้วก็รีบไปปรึกษาพี่ผู้หญิงที่สนิทกัน แล้วเขาก็ได้แนะนำให้ไปแจ้งสื่อ โดยบอกว่าจะไปไกล่เกลี่ยพูดคุยกับตำรวจให้เพื่อให้เรียกนายพิพลที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์โดราเอมอนมาจ่ายเงินที่พ่อตนเสียไปคืนมาทั้งหมด

แต่ปรากฏว่าเมื่อไปเจรจากันกลับพบความผิดหวัง เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่สนคำขอร้อง พร้อมกับอ้างว่าทำตามกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ทางศิลปะ จิตรกรรม ทั้งที่ตนก็มองว่าตัวต่อเลโก้มันเป็นแท่งๆ ที่ต้องต่อก่อสร้างขึ้นมาเอง มันถือเป็นงานศิลปะประยุกต์ถึงจะเป็นรูปร่างได้ และผลสรุปก็คือทางตัวแทนยืนยันว่าไม่คืนเงินให้เพราะผ่านการดำเนินการไปแล้ว ทำให้ตนทุกข์ใจมากที่พ่อต้องมีหนี้สิน และตนก็ต้องมาหาเงินในช่วงที่ต้องเก็บเงินตั้งครรภ์เพื่อช่วยใช้หนี้ให้พ่ออีกทอดหนึ่ง โดยที่ 2 เดือนนี้ตนไม่ได้รับเงินเดือนจากงานที่ทำเนื่องจากต้องรอเงินเบิกจ่ายจากหน่วยงานในสังกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการตรวจสอบไปที่เพจบริษัท แอนนิเมชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ โดราเอมอน, ชินจัง, ดรากอนบอล, โอชาเคน และแพนด้า ซี แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย แต่โพสต์นี้ลงไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปี 2553 แต่มีผู้มาโพสต์ข้อความไว้เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดเมื่อ 1 วันที่ผ่านมามีผู้มาโพสต์ว่าถูกเรียกจับลิขสิทธิ์โดราเอมอนหลายราย มีค่าเคลียร์ตั้งแต่ 20,000-40,000 บาท ขณะที่อีกหลายรายสอบถามว่าลิขสิทธิ์ตัวนี้หมดสัญญาไปแล้วหรือไม่ แต่เจ้าของเพจก็ไม่มีการตอบคำถามดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 62 เฟซบุ๊ก บริษัท สำนักกฎหมาย นิพัธ ปิ่นแสง แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด ได้โพสต์คำพิพากษาฎีกาที่ 5756/2551 ซึ่งได้วินิจฉัยเรื่องลิขสิทธิ์ของการ์ตูนโดราเอมอนเอาไว้ว่า ตัวการ์ตูนโดราเอมอน ได้มีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทยได้บัญญัติไว้ว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปะประยุกต์ให้มีอายุ 25 ปีนับแต่ที่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก เมื่องานตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 งานดังกล่าวซึ่งมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก จึงมีอายุการคุ้มครองอยู่ถึงเพียงวันที่ 1 ธันวาคม 2537 เท่านั้น ขณะเกิดเหตุตามฟ้องในคดีนี้คือวันที่ 3 สิงหาคม 2549 งานที่นำภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอนมาตัดแปลงเป็นงานศิลปะ ใช้ประยุกต์กับวัสดุสิ่งของเครื่องใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและนำมาใช้ประโยชน์ทางการค้าตามฟ้อง จึงไม่มีลิขสิทธิ์อีกต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจเป็นความผิดตามฟ้อง ยกฟ้อง

“จากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าวนี้ ถือว่าตัวการ์ตูนโดราเอมอนหมดความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2537 แล้ว ดังนั้นใครที่ถูกลักไก่จับว่าผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในตัวการ์ตูนโดราเอมอน ก็ขอให้รู้ว่าโดนต้ม โดนหลอกจับกุมแล้ว ดังนั้น ใครที่โดนจับดังกล่าวก็ขอให้เอาคำพิพากษาศาลฎีกานี้ขึ้นต่อสู้ โดยให้ตำรวจดูคำพิพากษาศาลฎีกาเลยว่าตัวการ์ตูนโดราเอมอนไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2537 แล้ว จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งที่ซื้อหนังสือมอบอำนาจมาลักไก่จับกุมพ่อค้า และประชาชน ที่ไม่รู้กฎหมายอีกต่อไป โดยขอให้อ่านดูในหน้าที่ 6 ตามที่ได้ขีดเส้นใต้สีแดงไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกานั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าศาลวางหลักไว้อย่างไร” ข้อความในเพจสำนักกฎหมายนิพัธฯ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น