สุโขทัย – เฮกันลั่นสนั่นเมือง..ยูเนสโก ยกสุโขทัยขึ้นแท่นเมืองสร้างสรรค์ 1 ใน 66 เมืองทั่วโลกหลัง อพท.ผนึกทุกภาคส่วนทั้งรัฐ-เอกชน-อปท.วางแนวทางพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรมภายใต้คำนิยาม “มรดกโลกกินได้”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศผลการคัดเลือกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562 ผลการประกาศจังหวัดสุโขทัย ได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) โดยเป็น 1 ใน 66 เมืองจากทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกในปีนี้
ทั้งนี้การส่งจังหวัดสุโขทัยเข้ารับการประกวด เป็นความร่วมมือระหว่าง อพท. จังหวัดสุโขทัย อบจ.สุโขทัย และเครือข่ายจังหวัดสุโขทัย ตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาสุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ และนำส่งให้แก่กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งเข้าประกวด
“จากที่ อพท. ได้ลงพื้นที่ศึกษาศักยภาพของจังหวัดสุโขทัย นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และได้เห็นชอบประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร เป็นพื้นที่พิเศษ ในปี พ.ศ. 2554 ในการกำกับดูแลของ อพท. ซึ่งได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ คือ การพัฒนาและสร้างสรรค์กิจกรรม โดยเปิดให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยทำงานกับชุมชนด้วยคำนิยามสั้นๆ ว่า มรดกโลกกินได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการพัฒนา เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้ชุมชนได้มีรายได้เพิ่ม จากการนำเสนอวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่มีอยู่ ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และชุมชนจะมีรายได้เพิ่มจากการมาเยือนของนักท่องเที่ยว”
ความโดดเด่นของจังหวัดสุโขทัย นอกจากความเป็นเมืองมรดกโลกคือ มีความโดดเด่นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเมืองที่ผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ อาทิ การทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายทองคำหรือทองสุโขทัย ซึ่งทุกอย่างล้วนมีความสวยงาม มีอัตลักษณ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน
ตลอดการทำงานด้านการพัฒนาให้กับพื้นที่แห่งนี้ อพท. เห็นศักยภาพของชุมชนสูงมาก โดยวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เติบโตมาจากงานศิลปะ ได้แก่ การทอผ้า การทำเครื่องสังคโลก ศิลปปูนปั้น งานไม้ และการลวดลายทองคำ ซึ่งทุกอย่างล้วนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า การดำเนินการพัฒนาสุโขทัยสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เป็นนโยบายสำคัญของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มอบให้ อพท. เป็นหน่วยงานต้นน้ำในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ นอกจากนั้น นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ประธานคณะกรรมการ อพท. และคณะกรรมการ(บอร์ด) อพท. ให้การสนับสนุน อพท. เป็นอย่างมากในการดำเนินการในเรื่องนี้
“ประโยชน์ของการได้รับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะช่วยให้สุโขทัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการยกระดับจังหวัดสุโขทัยให้มีชื่อเสียงระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ขณะที่ชุมชนที่ อพท. ได้พัฒนาไว้แล้วนั้น ก็เข้มแข็งมีศักยภาพที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน สำหรับแผนการทำงานต่อไป อพท. จะจัดสรรค์งบประมาณ และบูรณาการงบประมาณกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชน และเมืองนี้ และมีแผนที่จะนำเสนอพื้นที่พิเศษเอื่นๆ ของ อพท. เข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก อีกเช่นกัน”
ปัจจุบันเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกทั่วโกลมีทั้งหมด 246 เมือง โดยเมืองสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย จะถูกคัดเลือกมาจากทุกทวีปและภูมิภาคที่มีระดับรายได้และประชากรแตกต่างกัน แต่มีการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุภารกิจร่วมกัน ดังนั้นการวางความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เป็นแกนหลักของแผนพัฒนาเมืองของแต่ละเมืองที่ได้รับคัดเลือกนั้นจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสอดคล้องกับวาระการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของสหประชาชาติภายในปี พ.ศ. 2573