xs
xsm
sm
md
lg

คึกคัก! สภากาแฟรอบเหมืองทองพิจิตรตั้งวงวิพากษ์ทุกวัน ไม่เชื่อ “ลุงตู่” ควักจ่าย 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิจิตร - สภากาแฟรอบเหมืองทองอัคราฯ พิจิตรตั้งวงวิพากษ์กันคึกคัก หลัง “นายกฯ ลุงตู่” ลั่นรับผิดชอบเอง..ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ ก่อนถูกร้องอนุญาโตตุลาการฯเรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้าน แทบทุกคนไม่เชื่อจ่ายไหว ชี้เปิดต่อดีสุด



ร้านค้า-สภากาแฟบ้านเขาดิน หมู่ 3 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกับเหมืองทองบริษัทอัครา รีซอร์สเซส หรือที่เรียกกันว่า เหมืองทองอัคราไมนิ่ง หรือเหมืองแร่ทองคำชาตรี คึกคักทุกเช้า ตั้งแต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุกรณีใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองว่า..ผมรับผิดชอบเอง

โดยชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราฯ ต่างพากันมาจับกลุ่มพูดคุยตามสภากาแฟ หรือศาลากลางบ้าน ตั้งวงวิพากษ์ถึงทางออกกรณีพิพาทนี้ตามมุมมองของชาวบ้านกันอย่างออกรส เพราะเกี่ยวพันถึงปากท้องของคนในครอบครัว เศรษฐกิจชุมชน รวมถึงงบประมาณแผ่นดิน

นายมนตรี ม่วงเอี่ยม อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 183 หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร หนึ่งในขาประจำร้านป้าแจ้วที่ขายอาหารตามสั่งในหมู่บ้านด้วย กล่าวว่า ไม่เชื่อที่นายกฯ ลุงตู่จะรับผิดชอบเองหากเกิดแพ้คดีต้องชดใช้ค่าปรับให้กับเหมืองทองอัคราฯ เป็นเงิน 3 หมื่นล้าน นายกฯ คนเดียวจะเอาเงินที่ไหนถ้าไม่ใช่เอาเงินภาษีของราษฎร ทางออกหนึ่งอาจจ่ายค่าชดเชยให้กับเหมืองทองอัคราฯ บ้างบางส่วน แล้วให้บริษัทฯ เปิดกิจการต่อเพื่อให้ชาวบ้านรอบเหมืองทองได้มีงานทำ

“ตอนใช้ ม.44 เป็นยุค คสช.ไปฟังข้อมูลจากพวกนักประท้วงที่ล้วนเป็นคนนอกพื้นที่ กล่าวหาว่าน้ำดื่ม น้ำกิน ในหมู่บ้านมีสารพิษต่างๆ นานา แต่เรื่องจริงคือที่หมู่ 3 บ้านเขาดิน มีโรงงานน้ำดื่มเทพนิมิตร ทำน้ำบรรจุขวด-บรรจุถัง ขายไปทั่วทั้งตำบล สาธารณสุขและส่วนราชการมาตรวจก็ได้มาตรฐานผ่านทุกครั้ง ชาวบ้านก็ดื่มน้ำจากโรงงานน้ำดื่มในชุมชนก็มีสุขภาพแข็งแรง แต่ข่าวที่ออกไปกลับตรงกันข้าม”

เช่นเดียวกับ นายอรุณ สีสุทธินา อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 991/4 หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ กล่าวว่า คดีความของเหมืองทองอัคราฯ กับรัฐบาล “ลุงตู่” ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเหมืองทองอัคราฯ จะชนะ เพราะไม่เคยเห็นเอกสารหรือหลักฐานใดที่ระบุชี้ชัดว่าเหมืองทองอัคราฯ กระทำผิดในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผู้สร้างมลพิษมลภาวะ

ขณะที่ นายปฏิภาณ ประทุมเมศ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 199 หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ให้ความเห็นว่า ตนติดตามข่าวสารเรื่องเหมืองทองอัคราฯ บนโลกออนไลน์ และสื่อหลักๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือมาตลอด เหตุการณ์สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ น่าจะมีมือที่สามที่ให้ข้อมูลผิดๆ จนนายกฯ ลุงตู่ใช้ ม.44 สั่งปิด

เมื่อถูกฟ้องร้องถ้าต้องจ่าย 3 หมื่นล้านก็ไม่น่าจะเป็นเงินของนายกฯ ลุงตู่ ซึ่งอาจจะเป็นเงินจากภาษีประชาชน หรือจากมือที่สาม แต่ก็จะต้องสั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ ต่อไป แต่หลังจากนั้นอีกสักระยะหนึ่งก็น่าจะมีบริษัทใหม่ หรือคนใหม่ ทุนใหญ่ เข้ามาทำต่อหรือทำแทนเหมืองทองอัคราฯ ก็เป็นได้

นางนิตยา สีสุทธินา อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 999/4 หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่า “นายกฯ ลุงตู่” จะรับผิดชอบกรณีดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวได้ ไม่เชื่อว่าจะยอมควักหรือมีเงินส่วนตัวมากมายขนาดนั้น พร้อมทั้งเล่าว่าบ้านเธออยู่ห่างพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำเพียงแค่ 2-3 กม.เท่านั้น ชีวิตความเป็นอยู่-สุขภาพก็แข็งแรงดี ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยหรือโดนสารพิษตามที่เป็นข่าวออกสื่อบางสำนักบางแขนง

“คนในหมู่บ้านมีเป็นร้อยคน เจอคนป่วย คนตาย ก็อ้างว่าตายจากสารพิษของเหมืองทองฯ นำไปประโคมข่าวใหญ่โต แต่ไม่มาถามคนอีก 99 คนว่าเรื่องจริงมันเป็นเช่นไร”

นางนิตยากล่าวอีกว่า วันนี้เหมืองทองอัคราฯ ปิดตัวลง สุขภาพของชาวบ้านก็ไม่เคยเห็นใครมาเหลียวแล ไม่เหมือนกับยุคที่เหมืองทองเปิดอยู่ มีตรวจสุขภาพประจำปีกันเป็นประจำ โรงเรียนบ้านคีรีเทพนิมิต แต่ก่อนหน้านี้เหมืองทองอัคราฯ ดูแล จ้างครูไทย ครูภาษาต่างชาติมาช่วยสอนในโรงเรียนมีทั้งเด็กทั้งครูมากมาย วันนี้ไปดูได้เลย ครูก็ลดลงเพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณจ้างครู เด็กนักเรียนก็ลดลงเพราะพ่อแม่ตกงานจากเหมืองทองอัคราฯ ที่ถูกสั่งปิดกิจการ ก็ต้องอพยพย้ายครอบครัวย้ายถิ่นฐาน ไม่รู้ว่าโรงเรียนจะถูกยุบในเร็ววันนี้หรือเมื่อไหร่

“ต้นเหตุของ ม.44 ปิดเหมืองทองอัคราฯ เป็นเพราะลุงตู่ไปฟังคนประท้วงที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ ถึงวันนี้เราจึงอยากให้ฟังเสียงของพวกเราบ้าง ว่า..อัคราอยู่ได้ เราอยู่ได้..ถามว่าทำไมเราจึงยอมอยู่บ้านใกล้โรงงานอุตสาหกรรม เพราะเรื่องจริงคือเหมืองทองอัคราฯ สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งเรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อมก็ไม่จริงอย่างที่เป็นข่าว เรื่องนี้คนในชุมชนตัวจริงเท่านั้นที่รู้เรื่องดี แต่ที่ผ่านมาถึงพูดก็ไม่มีใครฟัง ถึงมีคนฟังก็ไม่มีคนสนใจ”

ด้าน น.ส.วันวิสาข์ สุมะนะ อายุ 34 ปี และนายอดิเรก เถื่อนคุ้ม อายุ 40 ปี ชาว ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ ซึ่งเสพสื่อติดตามข้อมูลข่าวสารบนโลกโซเชียลฯ เป็นส่วนใหญ่ ก็บอกทำนองเดียวกันว่าไม่เชื่อที่นายกฯ ลุงตู่เพียงแค่คนเดียวจะรับผิดชอบ หากแพ้คดีต้องชดใช้เงิน 3 หมื่นล้านให้กับเหมืองทองอัคราฯ อีกทั้งถ้าจะไปเอาเงินจากภาษีประชาชนไปชดใช้จากคำสั่งในยุค คสช.ก็ต้องขออนุมัติผ่านสภาฯ ซึ่งคาดว่าสภาฯ และประชาชนคนไทยทั้งประเทศก็คงไม่ยอมแน่นอน

ดังนั้นจึงเชื่อว่าทางออกที่ดีคือหาช่องทางจ่ายเงินค่าปรับบางส่วนให้กับเหมืองทองอัคราฯ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหาย ค่าเสียประโยชน์ที่ควรได้ในช่วงที่ต้องถูกปิดกิจการแล้วให้เปิดดำเนินกิจการต่อไป จะเป็นการดีด้วยกันทุกฝ่าย

สำหรับกระแสของประชาชนชาวจังหวัดพิจิตรและชาวบ้านที่อยู่รอบเหมืองทองอัคราฯ ต่างให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องของคนในท้องถิ่นและเกี่ยวข้องกับเงิน 3 หมื่นล้าน ที่หากต้องแพ้คดีจะต้องจ่ายให้กับบริษัทคิงส์เกต เป็นจำนวนเงินมากถึง 3 หมื่นล้าน ว่า...เอาเข้าจริง “นายกฯ ลุงตู่” คนเดียวจะเอาเงินมาจากไหน? รับผิดชอบไหวหรือ? ซึ่งคงต้องรอฟังข่าวการไต่สวนของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ประเทศสิงคโปร์ ที่จะมีการพิจารณาไต่สวนสืบพยานเป็นนัดแรก ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร?

ทั้งนี้ เหมืองทองบริษัทอัครา รีซอร์สเซส หรือที่เรียกกันว่า เหมืองทองอัคราไมนิ่ง หรือเหมืองแร่ทองคำชาตรี เปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2544 ถูกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 สั่งปิดกิจการมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อ้างเหตุผลด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ต่อมาทางเหมืองทองอัคราฯ ได้ยื่นเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะมีการพิจารณาคำร้องครั้งแรกในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น