กาญจนบุรี - ปธ.กลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ แนะรัฐหากจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อน ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุการณ์ใด ขอให้รีบประกาศตามข้อเท็จจริง เชื่อประชาชนไม่สูญเสีย ด้าน กฟผ.เผยหากฝนหยุดไม่จำเป็นต้องระบายน้ำผ่านสปีลเวย์ แต่ก็ยังเสี่ยงอยู่
วันนี้ (30 ก.ค.) นางภินันทน์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จากกรณีจังหวัดกาญจนบุรี ได้แจ้งให้ทราบว่า เขื่อนวชิราลงกรณ มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมอัตราร้อยละ 23 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องจากมีฝนตก ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง จะต้องควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมนั้น
“พวกเราทราบว่าเขื่อนวชิราลงกรณ มีความจำเป็นต้องปรับแผนการระบายน้ำตามการประสานงานกับคณะกรรมการบริหารน้ำและกรมชลประทาน เพื่อพร่องน้ำออก เพราะเขื่อนยังต้องรับน้ำที่จะมีมากตามฤดูกาลไปอีกกว่า 2 เดือน ซึ่งเขื่อนวชิราลงกรณ ได้พยายามควบคุมการระบายน้ำเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านท้ายน้ำตลอดแม่น้ำแควน้อย ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นด้วยเรื่อยๆ”
ส่วนตัวมองว่า หากเขื่อนจำเป็นต้องปล่อยน้ำด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คนเมืองกาญจน์ ที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มและริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ รวมทั้งริมน้ำแม่กลอง ก็ไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ เพราะเพียงแค่ไปให้ถึงบริเวณถนนบายพาสหรือถนนเลี่ยงเมือง ทุกคนก็ปลอดภัยแล้ว และบริเวณดังกล่าวมีวัดให้ประชาชนได้อาศัยชั่วคราวอยู่ด้วยกันหลายแห่ง และภายในวัดมีเครื่องอำนวยสะดวกทุกอย่าง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว รวมทั้งที่หลับนอนด้วย ขอเพียงแค่อย่าตกใจ และอย่าอารมณ์เสียเท่านั้นพอ
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ขอเพียงให้ผู้มีหน้าที่ดูแลตรวจสอบความบกพร่องของเขื่อนให้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ หากมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม ขอให้รีบแถลงข่าวให้เร็ว และขอให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง โดยที่ไม่มีการปกปิด เพื่อจะได้มาร่วมกันแก้ไข ให้ประชาชนมีจิตใจมั่นคงไม่ตื่นกลัว ต้องไม่ทำให้ประชาชนแตกตื่น แต่ต้องให้ประชาชนตื่นตัว และไม่ประมาท
เนื่องจากขณะนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ราบลุ่มและใต้เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จะต้องจัดเป็นกลุ่มคนที่อาศัยบนพื้นที่เสี่ยงภัย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมาให้ความรู้ เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน ด้วยการประกาศ และเตือนไปตามความจริง เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
นางภินันทน์ กล่าวอีกว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา มนุษย์เราได้ทำลายธรรมชาติมากมาย เช่น บุกรุก ตัดไม้ ทำลายป่า จากนี้ไปผู้ที่กระทำจะต้องหยุดแล้วกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยหันมาฟื้นฟูผืนป่าเพื่อให้ธรรมชาติกลับคืนมาให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกหลานรุ่นหลังจะได้ไม่มีภัยจากภัยธรรมชาติ เพราะหากยังไม่หยุด เชื่อว่าอนาคตข้างหน้าทุกคนทั้งประเทศ และทั่วโลกจะได้รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้มาสู้กับภัยธรรมชาติได้