xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ติวเข้ม กธจ.17 จังหวัดเหนือ ชูบทบาทสอดส่อง-เสนอแนะปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - “วิษณุ” ยก กธจ.คือสภาพลเมือง ร่วมสอดส่อง-เสนอแนะการปฏิรูปประเทศ แจ้ง ผวจ.ปรับปรุงให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี ย้ำถ้ายังเพิกเฉยละเลย ส่งสำนักปลัดฯ ยิงตรง “นายกรัฐมนตรี” ได้ทันที

วันนี้ (22 มิ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินมาร่วมบรรยายพิเศษเรื่อง “คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดกับการปฏิรูปประเทศ” ต่อคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด และเครือข่ายฯ จำนวน 400 คนที่โรงแรมดวงตะวัน จ.เชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่, นายสุรศักดิ์ เรืองเครือ หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมให้การต้อนรับ

นายวิษณุกล่าวว่า กธจ.มีการพัฒนามาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายการทำยุทธศาสตร์จังหวัด เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปี 2550 บังคับในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์ คือ การบังคับให้ผู้ว่าฯ ปรึกษาคนหลายฝ่าย มหาวิทยาลัยในจังหวัด รวมทั้งประชาคมทั้งหลายเพื่อยกร่างยุทธศาสตร์ขึ้นมา และปัจจุบันกำลังมียุทธศาสตร์ชาติ

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ที่ จ.สงขลา เน้นยุทธศาสตร์เนื้อหาพัฒนาคนทุกระดับ สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติที่ 3 เด่นมากในภาพรวมประเทศ ภาคเหนือต้องมียุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตร์จังหวัดต้องไปดูว่ามีหรือยัง ต้องแก้หรือไม่ ถ้าแก้ได้ต้องทำตอนนี้ เพราะต่อไปจังหวัดเป็นหน่วยของบประมาณโดยตรงได้ซึ่งจะถือเป็นครั้งแรก เนื่องจากที่ผ่านมาต้องขอผ่านหน่วยงาน ทำให้เป็นโอกาสของนักการเมืองที่มีอิทธิพลโยกงบข้ามจังหวัดได้ ดังนั้นปี 2550 มีการแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้จังหวัด

อีกอย่างที่ได้ในปี 2550 คือ กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด หรือ กธจ. โดย กธจ.ไม่ให้มีข้าราชการ ในที่สุดออกแบบให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายก มีภาระกิจตรวจผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งใน กธจ.มีผู้แทนระดับต่างๆ เข้ามาด้วย นักการเมืองท้องถิ่นก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นผู้บริหาร มีสื่อมวลชน มีข้าราชการ บทบาทในหน้าที่ ทำได้ 3 อย่าง คือ สอดส่อง เสนอแนะ และแจ้งผู้บริหารคือผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ

สอดส่อง คือ หมายความว่าดูแลโดยรอบด้าน เรียกคนมาถามได้ เท่านี้ก็พอ เมื่อสอดส่องพบก็เสนอแนะแก้ปัญหาแบบธรรมาภิบาล ถ้ายังไม่ปฏิบัติก็แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด และมีข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยไม่ต้องทำเอง หรือรายเล็กๆ ไฟฟ้า ประปา ถ้าไม่แก้ จึงเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด

โดยเฉพาะมาตรา 3/1 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 (3) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด พ.ศ. 2552 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ธรรมาภิบาล นั่นเอง ตรงกับภาษาอังกฤษ Good Governance ซึ่งเป็นคำของสหประชาชาติ

“ข้าราชการทุกตำแหน่งทุกหน้าที่ต้องมีการบริหารที่ดี คือการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนไม่ซ้ำซ้อน ถูกกฎหมาย รับผิดรับชอบ และส่งเสริมผู้อื่นมีส่วนร่วม คุ้มทุนคุ้มค่า ถ้าพบว่าไม่เป็นตามนี้ก็รายงานให้หน่วยงานรับผิดชอบได้”

นายวิษณุบอกอีกว่า กรรมการธรรมมาภิบาลในสหประชาชาติใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว รัฐบาลที่ดีคือการจัดระเบียบที่ดี ไม่ซ้ำซ้อน สหประชาชาติจึงเรียกร้องให้นานาประเทศทำ แต่ไม่มีใครสนใจ สหประชาชาติเอาหลักธรรมมาภิบาลไปใช้กับธนาคารโลก ธนาคารโลกตั้งเงื่อนไขถ้าเอาเงินกู้ไปใช้ ต้องใช้หลักธรรมาภิบาล ประเทศที่ต้องการเงินต้องรับเงื่อนไข เช่นการสร้างเขื่อนมีการต่อต้านอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีถือว่าไม่มีธรรมาภิบาลธนาคารก็ไม่ให้ เมื่อใช้กับระบบการเงินได้ผล สหประชาชาติจึงรณรงค์ครั้งใหญ่ให้นานาประเทศปฏิบัติ ในประเทศไทยพูดกันมากในช่วงนายกอานันท์ ปันยารชุน จนสมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย สนใจให้บัญญัติศัพท์ จนได้คำว่า “ธรรมาภิบาล” แปลว่าผู้ดูแลรักษาธรรมะ ไม่ตรงภาษาอังกฤษ แต่ก็ใช้ไปแล้ว สำนักกิจการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้บัญญัติว่า “หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” การใช้ธรรมาภิบาลสามารถใช้ได้ทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงองค์กร บริษัทห้างร้านไม่เพียงราชการเท่านั้น

“หัวใจธรรมาภิบาล คือ อำนวยประโยชน์ให้ประชาชน กธจ.เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลกลัว 3 อย่าง คือ 1. สอดส่อง 2. ทำเสียเอง 3. มีอำนาจสอดส่องกลัวกลายเป็นฝ่ายค้านของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็เป็นจริง สังคมไทยมักมีการประลองกำลังเช่น ในหลายมหาวิทยาลัย มีสภาคณาจารย์ในอดีตไม่มีการผ่อนสั้นผ่อนยาว สภาคณาจารย์ก็ทำหน้าที่คล้ายๆ ธรรมาภิบาล ในอดีตเป็นเหมือนฝ่ายค้าน แต่ระยะหลังมาเกิดความเข้าใจ เพราะการออกแบบองค์กรไม่ต้องการเป็นฝ่ายค้าน และไม่ใช่ผู้ปฏิบัติไปทำเอง”

นายวิษณุกล่าวอีกว่า บทบาทที่สำคัญของ กธจ.มาถึงแล้ว คือ ปฏิรูปประเทศไทย 13 ด้าน ซึ่งแผนปฏิรูปเป็นกฏหมายไปแล้ว ทุกกระทรวง ทบวงกรมต้องปฏิบัติ ต่อไปการเสนออะไรสักอย่างไม่อยู่ในแผนปฏิรูป ก็จะไม่ได้งบประมาณ

บทบาท กธจ.ในฐานะตรวจสอบผู้ปฏิรูป ก็ใช้ 3 หลักการข้างต้นกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกับผู้ตรวจสำนักนายกรัฐมนตรี คือไปช่วยสอดส่อง เสนอแนะและแจ้งผู้รับผิดชอบในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือเป็นที่ปรึกษาที่มีลักษณะประชารัฐเพราะได้รวม ประชาสังคม เอ็นจีโอ ท้องถิ่น ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาฯลฯ เป็นองค์กร

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ กธจ.สอดส่องการทุจริตด้วย โดยเฉพาะเงินผู้ไร้ที่พึ่ง เงินอาหารกลางวันเด็ก ที่ปรากฏในสังคมไทย ดังนั้น กธจ.ควรเป็นที่พึ่ง จึงควรพัฒนาส่งเสริมให้ กธจ.มีความเข้มแข็งและพัฒนาเป็นสภาพลเมือง ต่อไปในการทำงานถ้าพบประเด็นการทำงานที่ราชการไม่ทำ หรือใหญ่เกินไปที่ระดับจังหวัดทำ ให้ กธจ.บันทึกเข้าสำนักปลัดฯ ส่งตรงไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น