xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง!ขยะพิษทะลักไทย ซุกเกลื่อน 7 จว.ตะวันออก-อีสาน-กลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตีแผ่ช่องว่างรอยโหว่ ขบวนการขนขยะพิษทิ้งไทย แฉทุนจีนชู “อนุสัญญาบาเซล” นำหน้าเลี่ยงบาลีสำแดงเท็จ-สวมรอยเป็นสินค้าผ่านแดน ขนซากอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกซุกตะวันออก-อีสาน-กลางแล้ว 7 จว. กรมโรงงานฯ-ศุลกากร โยนกลองกันเฉย

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย กำลังสาละวนกับการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อจัดการกับขยะภายในประเทศ โดยคัดแยกนำส่วนหนึ่งมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่กลับมีช่องว่างรอยโหว่ของกฎระเบียบ ทำให้ขยะพิษ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทุกประเทศทั่วโลกปฏิเสธ ถูกขนเข้ามาทิ้งในประเทศกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ขยะพิษเกลื่อนแล้ว 7 จว.

ขบวนการค้าขยะพิษข้ามชาติ..แดงขึ้น หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจจับโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบการลักลอบนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นจำนวนมาก และสืบสวนพบกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “คนจีน” เข้ามาเปิดกิจการเกี่ยวกับกำจัดขยะ-ลักลอบนำเข้า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์-เศษพลาสติก” เข้าไทยต่อเนื่อง แต่ไม่กำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นการลดต้นทุน

สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ไม่เพียงสร้างปัญหาแค่เรื่องการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ แต่ขยะเหล่านี้ย่อยสลายยาก ขั้นตอนการกำจัดก่อปัญหาซ้ำเติม ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ

โดยเส้นทางขยะเหล่านี้ หลังจากลักลอบนำเข้าไทย ก็จะกระจายวัตถุดิบเพื่อนำไปคัดแยกหรือรีไซเคิล แต่สุดท้ายลอบทิ้งหรือฝังกลบแบบไม่ถูกวิธี

ซึ่งที่ผ่านมา มีการตรวจสอบบริษัทนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ไปแล้วบางส่วน ได้แก่ 1.บริษัท เจ.พี.เอส เมทัล กรุ๊ปส์ 2.บริษัท หย่งถังไทย 3.บริษัท โอ.จี.โอ. 4. บริษัท เอส.เอส. อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล 5.บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) 6.บริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) 7.บริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง

เบื้องต้นพบว่าในจำนวนนี้มีโรงงาน 4 แห่ง ไม่ทำตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ทำผิด พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เนื่องจากส่งต่อให้กับโรงงานอื่นที่ไม่มีใบอนุญาต เพื่อทำการกำจัด และเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย และอีกจำนวนหนึ่งไม่มีใบอนุญาตนำเข้า แต่กลับสำแดงเท็จ

และหลังจากทีมีการตรวจเข้มแบบจริงจัง ทำให้พบว่า นอกจากฉะเชิงเทรา ยังมีการนำขยะพิษเหล่านี้เข้าพื้นที่ระยอง , สมุทรปราการ , สระแก้ว , กรุงเทพฯ , กาฬสินธุ์ และชลบุรี รวมทั้งอาจจะมีมีการลักลอบขนไปทิ้งในจังหวัดอื่นๆอีกไม่น้อย

ทุนจีนชูอนุสัญญาบาเซล ขนขยะพิษเข้าไทย

สาเหตุที่ทำให้ไทย กลายเป็นปลายทางแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือขยะพิษ เริ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อนักธุรกิจชาวจีนกลุ่มหนึ่งเข้ามาตั้งบริษัท นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก มาตั้งในเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นโควตานำเข้าไม่มากนัก เพราะจีน ยังรับกำจัดขยะจำพวกนี้ ต่อมารัฐบาลจีนเข้มงวดเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มคนจีนเห็นช่องทาง จึงได้ร่วมมือกัน เข้ามาเปิดกิจการโรงงานกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยอย่างจริงจัง ตั้งแต่ช่วงปี 2556

โดยอาศัยอนุสัญญาบาเซล ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาบาเซล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2540 ซึ่งมีช่องโหว่ให้เอกชนลักลอบนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในไทย คือ เกิดข้ออ้างว่านำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยอ้างว่าเป็น “ขยะพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล”

“ไทย”จึงกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพุ่งไปถึงหลายหมื่นตัน..

ซึ่งเมื่อปี 59 ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชน 606,319 ตัน เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชน 393,070 ตัน (ร้อยละ 65) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2.2 ต่อปี

และตามข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่าปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรมและการนำเข้าในปี 2560 มีมากกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งเป็นจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 53,000 ตัน ปัจจุบันมีโรงงานที่ถูกกฎหมายรับ คัดแยกขยะและรีไซเคิลที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 148 แห่ง

พบมีทั้งสำแดงเท็จ-สวมรอยเป็นสินค้าผ่านแดน

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เล่าว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่ประเทศไทย และทำให้เกิดสารมลพิษต่างๆตกค้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนคนไทยด้วย ซึ่งนอกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กรมโรงงานระบุไว้แล้ว ไทยยังเปิดให้มีการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตรายได้

โดยมีประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมฉบับที่ 3/2550 กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วที่เป็นวัตถุอันตราย เข้ามาในราชอาณาจักรได้ 4 กรณี คือ1.การนำเข้าเพื่อการใช้ซ้ำ 2.การนำเข้าเพื่อการซ่อมแซม 3.การนำเข้าเพื่อการดัดแปลงหรือปรับปรุง 4.การนำเข้าเพื่อการคัดแยกหรือแปรสภาพ

หมายถึง..การนำอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วเพื่อการแกะ ,ชำแหละ,ถอดล้าง,แยกชิ้นส่วน หรือกระทำเพื่อการกำจัดทำลายหรือสกัดแยกเอาวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์

ซึ่งการนำเข้าทั้งหมดนี้ ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาบาเซล ที่กำหนดให้นำเข้าหรือส่งออกสินค้าในหมู่สมาชิก 166 ประเทศ เฉพาะชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ใน List B ลำดับที่ 12 รหัสB11108 ได้แก่ 1.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบด้วยโลหะหรือโลหะผสม

2.ของเสียประเภทเศษหรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงแผงวงจร) ที่ไม่มีองค์ประกอบ ซึ่งได้แก่ หม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่นๆ ที่รวมในบัญชีรายชื่อ A สวิทช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบ แก้วจากหลอด Cathode-ray และ Activated glass อื่นๆ และหม้อเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบี หรือที่ไม่ปนเปื้อนด้วยองค์ประกอบในภาคผนวก 1 (เช่น แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเตดไบฟีนิล)

และ3.ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(รวมทั้งแผงวงจร สายไฟ องค์ประกอบอิเล็กทรอนิกส์)เพื่อใช้ซ้ำและไม่ใช่เพื่อการรีไซเคิลหรือกำจัดขั้นสุดท้าย ดังนั้นขยะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารเคมีและโลหะหนักจะไม่สามารถขออนุญาตนำเข้าประเทศไทยได้เลยเนื่องจากผิดต่ออนุสัญญาบาเซล

กรณีที่เป็นของเสียอันตราย ตามอนุสัญญาบาเซลคือ ประเทศต้นทางจะต้องมีหนังสือมาขอคำยินยอมจากประเทศไทย และต้องได้รับหนังสือให้ความยินยอมจากประเทศไทยก่อน ผู้ประกอบการไทยจึงจะยื่นขออนุญาตนำเข้าได้ ระยะเวลาการพิจารณาคำขออนุญาต 15 วันทำการ โดยมีเอกสารประกอบการยื่นขออนุญาตนำเข้าคือ ภายหลังจากที่ผู้นำเข้าได้รับใบอนุญาตนำเข้าหรือ วอ.4 แล้ว

ก่อนที่จะนำเข้าจริงผู้ส่งออกจะต้องยื่นแจ้งข้อเท็จจริงของสิ่งที่จะนำเข้า ตามแบบ วอ/อก.6 โดยต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วันทำการก่อนสินค้าเข้าประเทศไทยก่อนจึงจะไปดำเนินการตามพิธีการศุลกากรต่อไป

นายสนธิ กล่าวอีกว่า แต่ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ท่าเรือแหลมฉบังที่เคยเกิดขึ้นจะใช้วิธีการหลบเลี่ยงรูปแบบต่างๆ เช่น สำแดงเท็จ โดยขออนุญาตนำเข้าสินค้าประเภทอื่น แต่กลับขนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสารเคมีและ โลหะหนักเข้ามา , นำซากอิเล็กทรอนิกส์ปะปนมาในตู้สินค้าที่ไม่เข้าข่ายอนุสัญญาบาเซล, นำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำแดงว่าเพื่อใช้ซ้ำหรือสินค้ามือสองแต่กลับนำไปเข้าโรงงานคัดแยกและรีไซเคิล , สำแดงว่าเป็นสินค้านำเข้าเพื่อส่งออกไปประเทศที่ 3 ประเทศไทยเป็นเพียงทางผ่าน หลังจากนั้นก็รู้กันกับเจ้าหน้าที่โดยแอบเปิดตู้และขนสินค้าออกไป

เมื่อสินค้าผ่านการตรวจจากศุลกากร ก็จะขนสินค้าดังกล่าวไปยังโรงงานประเภท 105 และ 106 คือโรงงานคัดแยกและรีไซเคิล ซึ่งหลายแห่งมีกรรมวิธีไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย เช่น การเผาสายไฟเพื่อนำทองแดงไปขาย ทำให้เกิดไอระเหยของพลาสติก และโลหะหนัก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง, การเผาแผงวงจรเพื่อหลอมตะกั่วและทองแดงทำให้เกิดไอตะกั่วแพร่กระจายสู่อากาศ และสะสมในดินและน้ำรวมทั้งเกิดสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

การใช้กรดสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจรโดยไม่มีกระบวนการบำบัดน้ำเสียทำให้เกิดการปนเปื้อนลงสู่ดินและแหล่งน้ำ, การรื้อ การแกะตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ โดยไม่มีอุปกรณ์ดูดเก็บสารทำความเย็น ทำให้สารทำความเย็นหลุดออกสู่บรรยากาศและทำลาย ชั้นโอโซน เมื่อแกะและคัดแยกแร่หรือของที่มีค่าออกไปแล้วเศษชิ้นส่วนที่เหลือยังปะปนด้วยสารเคมีและโลหะหนักอยู่เป็นจำนวนมาก

ทั้งที่ตามหลักการแล้วต้องนำเขาสู่โรงงานประเภท101 คือโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวมโดยการฝังกลบอย่างปลอดภัยหรือนำไปเผายังโรงงานเผาขยะอันตรายที่ต้องได้รับการอนุญาตจากกรมโรงงานเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วกลับนำเศษชิ้นส่วนเหล่านี้ไปทิ้งตามบ่อขยะชุมชนหรือนำไปฝังกลบธรรมดาก่อให้เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยรอบได้

กรมโรงงานฯ-ศุลกากร โยนกลองกันเอง

ทั้งนี้ตามข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตัน ให้มูลค่าประมาณ 67,000 บาท และมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนเข้าโรงงานรีไซเคิลเพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น

และด้วยเม็ดเงินที่จะได้รับ ทำให้เกิดกระบวนการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ” มาเปิดบริษัทในไทยและแจ้งวัตถุประสงค์นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะต่างๆ โดยนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว ไปพักไว้ยังประเทศที่ 3 และลักลอบนำเข้ามาทิ้งในไทยตามลำดับ โดยอ้างนำเข้าชิ้นส่วนพลาสติกเพื่อนำมารีไซเคิล

ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว บริษัทเอกชนเหล่านี้จะต้องแจ้งข้อมูลต่อ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ให้รับทราบและอนุมัติ ก่อนสำแดงข้อมูลสินค้าต่อ “กรมศุลกากร” เพื่อรับรู้..

แต่ในทางปฏิบัติขั้นตอนนี้กลับเป็นปัญหาอย่างมาก เนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม อ้างว่ากรมศุลกากรไม่ตรวจสอบสินค้าที่เอกชนเหล่านั้น “สำแดงเท็จ” ขณะที่กรมศุลกากรตอบโต้ว่า ทำการตรวจสอบข้อมูลตามเอกสารที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม “อนุญาต”








กำลังโหลดความคิดเห็น