น่าน - เครือซีพีจับมือพัฒนาที่ดินจังหวัดฯ เดินหน้าตามแนวพระราชดำริ “สมเด็จพระเทพฯ” ดึงคนน่านทยอยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด หันทำไร่กาแฟ-ถั่วมะแฮะ ฟื้นผืนป่าลดเขาหัวโล้น
รายงานข่าวแจ้งว่า พัฒนาที่ดินจังหวัดน่านได้ร่วมกับบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดึงเกษตรกรบ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน รวม 67 ราย ร่วมดำเนินโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้ป่าควบไม้เศรษฐกิจ อย่างถั่วมะแฮะ และกาแฟพันธุ์อะราบิกา ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูป่าไม้ ขณะที่ชาวบ้านยังได้อาศัยทำกิน อยู่ร่วมกับป่าได้ โดยมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายป่าไม้
นายดนัย พรอำนวยลาภ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ เป็นโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรักษาฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย โดยดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างจิตสำนึก ด้วยกระบวนการให้ประชาชนร่วมกันฟื้นฟูป่าที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน
พื้นที่บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาภูเขาหัวโล้น เนื่องจากการเกษตรปลูกพืชเชิงเดี่ยว และไร่หมุนเวียนอย่างขิง-ข้าวโพด หลายฝ่ายจึงร่วมกันระดมความคิด ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และภาคเอกชนอย่างบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ เดินหน้าให้ความรู้เรื่องการปลูกไม้ป่าคู่ไม้เศรษฐกิจ และการปรับปรุงดิน หรือกระบวนการต่างๆ ที่จะช่วยลดต้นทุน เพื่อสร้างป่าสร้างรายได้ขึ้นมา
โดยทางพัฒนาที่ดินจังหวัดน่านส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วมะแฮะ ซึ่งเป็นพืชปุ๋ยสด และรับซื้อคืนเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ควบคู่กับการปลูกไม้ผล คือต้นกาแฟพันธุ์อะราบิกา ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าร่วมสนับสนุนทำให้เกษตรกรไม่เสียโอกาสในการเพาะปลูกพืชหลัก ระหว่างรอเก็บเกี่ยวกาแฟก็ยังมีรายได้จากการเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วมะแฮะขายคืน
“นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดแล้ว สิ่งที่ได้โดยตรงคือสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินในพื้นที่ของตนเอง”
นายหยาด ธรรมลังกา อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128 หมู่ 2 บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า ได้แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพด 15 ไร่ จากทั้งหมด 70 ไร่เข้าร่วมโครงการฯ โดยปลูกกาแฟ คั่นกับถั่วมะแฮะ ซึ่งระหว่างรอกาแฟโต ได้ขายเมล็ดพันธุ์ถั่วมะแฮะคืนให้พัฒนาที่ดิน จ.น่าน เป็นรอบที่ 3 แล้ว ทำให้เกษตรกรไม่เสียรายได้จากการลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ที่สำคัญช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้กว่าครึ่ง
“ขณะนี้มีเพื่อนเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก และผมก็เตรียมลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงอีก 10 ไร่เพื่อนำเข้าโครงการด้วย”
ด้าน นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า บ้านสบขุ่น เป็นพื้นที่นำร่องที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามาร่วมสนับสนุนปลูกพืชเศรษฐกิจ และเตรียมตลาดรองรับ ซึ่งในช่วงปีแรกมีชาวบ้านเข้าร่วม 40 กว่าราย แต่เมื่อชาวบ้านอื่นๆ เห็นว่าผู้เข้าร่วมโครงการเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มีรายได้ระหว่างรอพืชหลักโตและยังได้เก็บผัก ผลไม้ในไร่ในสวนมารับประทาน เหลือยังนำมาขายเปลี่ยนหน้าบ้านเป็นตลาด จึงเริ่มมีความมั่นใจในโครงการและทยอยเข้าร่วมโครงการมาเรื่อยๆ
ล่าสุดขณะนี้การดำเนินโครงการเข้าสู่ปีที่ 2 มีชาวบ้านเข้าร่วมแล้วจำนวน 67 ราย ช่วยลดพื้นที่การถางและเผาป่า ภูเขาหัวโล้นแล้ว 420 ไร่ แต่ในอนาคตเรามีเป้าหมายเตรียมขยายเพิ่มพื้นที่ป่าบ้านสบขุ่น 1 พันไร่ และขยายไปยังอำเภอต่างๆ ดึงชาวบ้านเข้าโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริฯ ซึ่งช่วยฟื้นฟูทั้งป่าต้นน้ำ ลำธาร และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านที่อาศัย และใช้ประโยชน์จากป่าไม้ให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่บุกรุกเพิ่ม สภาพความเป็นอยู่ที่ดี ที่สำคัญสามารถอยู่กับป่าได้อย่างเป็นมิตร และมีความสุข