กาญจนบุรี - ชาวทองผาภูมิผวา! หลังช้างป่าโขลงใหญ่ออกมาหากินพืชไร่ ส่วนคนงานสวนยางต้องเปลี่ยนตัวมากรีดยางช่วงเช้าแทน วอนรัฐเร่งประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อเยียวยาเกษตรกร
วันนี้ (7 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ของ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ของ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง และท้องที่ ต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี
ต่างก็ได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนจากการที่มีช้างป่าแยกกันเป็นโขลงๆละ 10-20 ตัว และได้กระจัดกระจายออกมาจากผืนป่าชั้นในลงมาหากิน และทำลายพืชไร่ของเกษตรกร ที่มีพื้นที่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน กล้วย และอื่นๆ ถูกช้างป่าทำลายเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่หมู่ 1 บ้านท่าขนุน หมู่ 2 บ้านเสาหงษ์ และหมู่ 3 บ้านปรังกาสี ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ
ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ เพราะช้างป่าโขลงใหญ่ได้กระจัดกระจายเข้ามาหากิน และอาศัยอยู่ในสวนยางเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จากที่คนงานเคยเข้าไปกรีดยางในช่วงเวลาระหว่างตีสี่ตีห้าถึงหกโมงเช้าของทุกวัน ต้องเปลี่ยนเวลาในการเข้าไปกรีดยางในช่วงเวลาตั้งแต่หกโมงเช้าไปจนถึงแปดโมงเช้าแทน โดยคนงานทุกคนก็ต้องเข้าไปอย่างระมัดระวังตัวที่สุด
โดยที่ผ่านมา มีชาวบ้านที่เข้าไปกรีดยางถูกช้างป่าทำร้ายได้รับบาดเจ็บอาการสาหัสมาแล้ว และล่าสุด ในเวลาค่ำคืนของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ 1 ราย ที่เป็นจิตอาสาเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยป้องกันไม่ให้ออกมากิน และทำลายพืชไร่ของเกษตรกร ถูกช้างป่าพุ่งเข้าทำร้ายจนเสียชีวิต
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น สร้างความเสียใจให้แก่คนในครอบครัว และญาติมิตร นอกจากนี้ยังทำให้ชาวบ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ต่างก็หวาดระแวงเป็นอย่างมาก
ต่อมา นายจิรชัย ถนอมวงษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าขนุน นายอานนท์ ถนอมวงษ์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (ส.อบจ.) เขต อ.ทองผาภูมิ และผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมขอให้ประกาศเป็นพื้นภัยพิบัติ เพราะหากมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนก็จะได้รับการเยียวยาในเบื้องต้นจากภาครัฐได้อย่างทันท่วงที แต่ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงนิ่งเฉย เชื่อว่าอนาคตข้างหน้าคนกับช้างป่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่อยู่ในพื้นที่ ต.ช่องสะเดา อ.เมือง และพื้นที่บ้านเขาสิงโต ต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ต่างก็ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ช้างป่าโขลงใหญ่ได้ออกมาหากินนอกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรต่างได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก
หากต้องการให้คนกับช้างป่าอยู่ร่วมกันได้ หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งบูรณาการร่วมกับคนในพื้นที่เพื่อหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ช้างป่าถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากฝีมือมนุษย์ เพื่อหาแนวทางในการเยียวยา และลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ใช่เพียงแค่รณรงค์ด้วยปากเปล่า หรือรณรงค์ด้วยกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น