MGR Online - อัยการเผย ป.ป.ช.ตีกลับสำนวน อดีตผู้การกาญจนบุรี แก้สำนวนหวย 30 ล้าน ต้องพ่วงสำนวนครูปรีชา-เจ๊บ้าบิ่น ให้พนักงานสอบสวนส่งอัยการปราบปรามทุจริตภาค 7 พิจารณาสั่งคดี
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาแล้วเห็นควรส่งสำนวนกลับคดีที่กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กล่าวหา พล.ต.ต.สุทธิ พวงพิกุล อดีตผู้บังคับการ จ.กาญจนบุรี ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำให้การในสำนวนคดีลอตเตอรี่ 30 ล้านบาท ไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ว่าในส่วนสำนวนของนายปรีชา หรือครูปรีชา ใคร่ครวญ อายุ 50 ปี ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี และนางรัตนา หรือเจ๊บ้าบิ่น สุภาทิพย์ อายุ 58 ปี แม่ค้าขายลอตเตอรี่ในตลาดเรดซิตี้ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-2 ในความผิด 3 ข้อหา ฐานร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย, ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายและรู้ว่ามิได้กระทำผิดเกิดขึ้น, ร่วมกันแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด โดยเป็นการแจ้งเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษ เเละ ยังตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในฐานะร่วมสนับสนุน พล.ต.ต.สุทธิเป็นเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น
เมื่อคดีหลัก ป.ป.ช.มีมติให้คืนสำนวนมา สำนวนก็จะต้องคืนมาทั้งหมด รวมทั้งสำนวนที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปรามปรามได้กล่าวหาครูปรีชากับพวกที่ถูกส่งไปยัง ป.ป.ช.ด้วย และเมื่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการกองปราบปรามรับสำนวนครูปรีชากลับมาแล้วก็จะต้องดูว่าสำนวนการสอบสวนนั้นมีความสมบูรณ์หรือยัง ถ้าพบว่าพยานหลักฐานสมบูรณ์แล้วก็จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งให้อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 เนื่องจากเป็นเหตุเกิดที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ต่อไป
นายประยุทธกล่าวต่อว่า ในส่วนข้อหาคดีของนายปรีชานั้นจะอยู่ในอำนาจของอัยการสำนักงานคดีอาญา เเต่เมื่อปรากฎว่าการเเจ้งความเท็จของนายปรีชา และการแก้สำนวนของ พล.ต.ต.สุทธินั้นล้วนมีเจตนาเดียวกัน คือ เจตนาที่จะประสงค์เอาเงินลอตเตอรี่ กฎหมายจึงถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันและต้องรวมสำนวนพิจารณาเข้าด้วยกันแล้วให้ส่งไปรวมที่ ป.ป.ช. แต่เมื่อ ป.ป.ช.ประชุมแล้วมีมติว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนทำไปเยอะแล้วก็เลยอาศัยความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำสำนวนต่อไป ซึ่งเรื่องคดีหวยนี้พนักงานสอบสวนที่ดูสำนวน พล.ต.ต.สุทธินั้นจะเป็น ปปป. ส่วนสำนวนครูปรีชาจะเป็นกองบังคับการกองปราบปราม สุดท้ายแล้วหน่วยงานใดจะเป็นผู้รวมสำนวนทั้งหมดส่งให้อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 ก็ต้องขึ้นอยู่กับกองบัญชาการสอบสวนกลางจะพิจารณาต่อไป